รฟม.เซ็นจ้างที่ปรึกษาฯเตรียมการประมูลโครงการรถไฟฟ้าที่โคราช เริ่มสร้างปี 64 เปิดใช้ปี 68

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 30, 2019 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ จัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) กับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา นำโดย บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอ็นทิค จำกัด และ บริษัท เอ 21 คอนซัลแตนท์ จำกัด วงเงิน 85.6 ล้านบาทว่า ที่ปรึกษาจะเริ่มดำเนินการศึกษา ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2562

ขอบเขตของงานจ้างประกอบด้วยงาน 2 ช่วง (Phase) ได้แก่ ช่วงที่ 1 งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม (Feasibility Study) ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ออกแบบ จัดทำรายงานการศึกษา และวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ และทำหน้าที่ที่ปรึกษาตามที่กำหนดใน พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี

และช่วงที่ 2 งานจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาเพื่อคัดเลือก ผู้รับจ้างงานก่อสร้างโครงการ และ/หรือ เอกสารประกวดข้อเสนอเพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนงานโยธา งานระบบรถไฟฟ้า งานบำรุงรักษาและงานให้บริการเดินรถ และทำหน้าที่ที่ปรึกษาตามที่กำหนดใน พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่าง รัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

ทั้งนี้ ตามแผนงาน ที่ปรึกษาจะรายงานการศึกษาการออกแบบ และประเมินค่าลงทุนโครงการเบื้องต้นได้ใน 6 เดือน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟม. กระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อนำเสนอคณะกรรมการ PPP เข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2562 ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ปลายปี 2563 เริ่มการก่อสร้างปลายปี 2564 เปิดให้บริการต้นปี 2568

ส่วนการร่วมลงทุนกับเอกชนนั้น จะใช้รูปแบบเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง คือรัฐจัดหาที่ดิน ส่วนเอกชนลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธา ระบบรถและเดินรถ โดยรัฐทยอยชำระคืนระยะ 10 ปี โดยเปิดกว้างทั้งเอกชนท้องถิ่นและนักลงทุนที่สามารถเข้าร่วมประมูลได้

นายภคพงศ์ กล่าวว่า ตามผลการศึกษาโครงการแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะมีโครงข่าย 3 เส้นทาง ได้แก่ สายสีเขียว ซึ่งรฟม.จะเริ่มเป็นโครงการนำร่อง สายสีส้มและสายสีม่วง โดยคาจำนวนผู้โดยสารทั้งโครงข่าย 3 สายประมาณ 2 หมื่นคน/วัน ทั้งนี้หากนำร่องสายสีเขียวก่อน คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 1 หมื่นคน/วัน เนื่องจากเป็นเส้นทางสายหลักที่ผ่านสถานที่สำคัญและมีสถานีเชื่อมต่อกับสถานรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง

โดยประเมินมูลค่าลงทุนสายสีเขียว ประมาณ 8,000 ล้านบาท เส้นทางเริ่มจาก ตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit) รูปแบบโครงสร้างทางวิ่งระดับดิน มีแนวเส้นทางตามแนวตะวันออก - ตะวันตก บนถนนมิตรภาพ ถนนมุขมนตรี ถนนโพธิ์กลาง ถนนราชดำเนิน ถนนชุมพล และถนนสุรนารายณ์ ระยะทางประมาณ 11.17 กิโลเมตร มีสถานีจำนวน 20 สถานี

"รฟม.จะนำร่องสายสีเขียวก่อน เพื่อดูผลการดำเนินงาน ทั้งในแง่ผลกระทบระหว่างก่อสร้างและการตอบรับของประชาชน เนื่องจากเป็นการก่อสร้างในเขตเมืองใหญ่ที่มีปัญหาจราจร ส่วนแนวเส้นทางจะอยู่บนแนวถนนเป็นส่วนใหญ่ มีการเวนคืนน้อย โดยจะมีการเวนคืนบ้าง หากพื้นที่ถนนแคบ หรือ จุดที่เป็นโค้งทางเลี้ยว จุดที่ตั้งสถานี ส่วนศูนย์ซ่อมบำรุง บริเวณบ้านนารีสวัสดิ์ เป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งจะเจรจาเช่าพื้นที่ต่อไป "ผู้ว่าการ รฟม. กล่าว

สำหรับระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต นายภคพงศ์ กล่าวว่า อยู่ระหว่างหารือกับกรมทางหลวงในการปรับปรุงแบบ ที่เป็นจุดตัดกับถนน ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนโครงการที่ต้องประเมินใหม่ และปรับรายงานร่วมลงทุน PPP ส่วนระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ ได้ว่าจ้างที่ปรึกษา ทำการศึกษาแนวเส้นทางอย่างละเอียด ส่วนระบบขนส่งมวลชน จังหวัดพิษณุโลก อยู่ระหว่างรอร่างพระราชกฤษฎีกา (พรฎ.) ให้รฟม.ดำเนินการกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดพิษณุโลก จากนั้นจะเป็นการจ้างที่ปรึกษาศึกษาออกแบบรายละเอียดและรายงานสิ่งแวดล้อม และรูปแบบการลงทุนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ