(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผยพ.ค. ส่งออกหดตัวต่อเนื่อง ตามการค้าโลกชะลอตัว แนะผู้ส่งออกทำประกันความเสี่ยงลดผลกระทบ FX

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 21, 2019 12:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนพ.ค. 62 โดยระบุว่า การส่งออกมีมูลค่า 21,017.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -5.79% จากตลาดคาด -5% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 20,836.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -0.64% ดุลการค้า พ.ค. เกินดุล 181.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือนพ.ค. 62 ที่หดตัวลง สอดคล้องกับแนวโน้มการค้าโลกและอุปสงค์ของคู่ค้าสำคัญที่ชะลอตัวลงตามปัจจัยร่วม อาทิ ข้อพิพาททางการค้า และภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว และปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศ/ภูมิภาค เช่น ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในยุโรป เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยยังได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และขยายตัวได้ดีในหลายตลาดทั้งตลาดสำคัญเดิม อาทิสหรัฐฯ และอินเดีย และตลาดดาวรุ่งใหม่ เช่น แคนาดา และรัสเซียและ CIS

สำหรับรายสินค้าการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และกระจายตัวในหลายตลาดทั้งตลาดจีน อาเซียน สหรัฐฯ ไต้หวัน และฮ่องกง โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป และเครื่องดื่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่สร้างรายได้แก่เกษตรกรและ SMEช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวและน่าจับตามอง ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องส่งวิทยุ โทรเลข โทรศัพท์ และโทรทัศน์ และนาฬิกาและส่วนประกอบ ที่เริ่มเห็นทิศทางการขยายตัวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา

ขณะที่ภาพรวมภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในช่วง 5 เดือนปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 101,561.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -2.70% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 100,830.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -0.99% ดุลการค้าเกินดุล 731.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับแนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2562 กระทรวงพาณิชย์มีแผนผลักดันการส่งออก โดยใช้นโยบายการค้าควบคู่กับการลงทุนและการบริการ อาทิ กลยุทธ์รายพื้นที่ขยายโอกาสการส่งออกในกลุ่มตลาดที่แข็งแกร่ง อาทิ สหรัฐฯ อินเดีย และ CLMV และเปิดตลาดใหม่ที่เริ่มเห็นสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่อง เช่น รัสเซีย และแคนาดา นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับสินค้าที่ขยายตัวสูง และมีศักยภาพในการส่งออกทดแทน อาทิ สินค้าเกษตร ประมงและอาหาร (สดและแปรรูป) ไก่ รวมถึงการผลักดันสินค้าดาวรุ่งใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ ด้วยภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่มีคุณภาพดี มาตรฐานระดับสากล ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค เพื่อชดเชยการชะลอตัวของสินค้าหลักกลุ่มเดิม อาทิ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องดื่ม เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น

ทั้งนี้ ในช่วงที่อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวน ผู้ส่งออกควรเร่งทำประกันความเสี่ยง และจูงใจให้ผู้นำเข้าทำสัญญาระยะยาวเพื่อเป็นหลักประกันการซื้อขายและลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนของข้อพิพาททางการค้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ