(เพิ่มเติม1) สภาผู้ส่งออก ปรับลดคาดการณ์ส่งออกปีนี้เป็น -1% จากเดิมคาดโต 1% หลังพ.ค.ยังหดตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 2, 2019 12:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ปรับลดประมาณการส่งออกไทยในปีนี้ลดลงเหลือ -1% จากเดิมที่เคยคาดโต 1% หลังมูลค่าการส่งออกในเดือนพ.ค.62 ยังคงหดตัวต่อเนื่อง และผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน

"ยอดส่งออกตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤษภาคม ติดลบไปแล้ว -2.7% เดือนนี้ติดลบสูงมาก ทำให้กังวลว่าช่วงเวลาที่เหลือในทิศทางใด โอกาสที่จะเติบโตค่อนข้างริบหรี่ น่าจะหดตัว -1% จากภาวะสงครามการค้า" น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธาน สรท.กล่าว

พร้อมระบุว่า สถานการณ์ทางการเมืองยังขาดความชัดเจนในเรื่องของนโยบาย เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลยังไม่เรียบร้อย

โดยล่าสุด กระทรวงพาณิชย์แถลงการส่งออกไทยเดือนพ.ค.62 มีมูลค่า 21,017 ล้านดอลลาร์ หดตัว -5.79% ในขณะที่ภาพรวมการส่งออกไทยช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.62) มีมูลค่ารวม 101,561 ล้านดอลลาร์ หดตัว -2.7%

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า สรท.ได้ปรับลดคาดการณ์การส่งออกในปีนี้ลงเหลือ -1 ถึง 0% บนสมมติฐานว่า ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 33.00 บาท/ดอลลาร์ (+/- 0.50 บาท/ดอลลาร์) จากอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 30 มิ.ย. อยู่ที่ 30.765 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.37-30.78 บาท/ดอลลาร์

ขณะที่ยังมีความเสี่ยงที่อุปสรรคต่อการส่งออกของไทย ได้แก่ 1.ความผันผวนของเงินบาท ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และความไม่ชัดเจนในการดำเนินนโยบายเพื่อจัดการอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย 2.สงครามการค้าส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้า และคู่แข่งที่สำคัญของไทย 3.ราคาน้ำมันที่มีความผันผวนจากมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น 4. สินค้าโภคภัณฑ์ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท และ 5.ปัจจัยด้านโครงสร้าง ได้แก่ เทคโนโลยีที่ล้าสมัยในอุตสาหกรรมรถยนต์

น.ส.กัณญภัค กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยคงต้องประเมินถึงการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกสำคัญ คือ 1.ไทยในฐานะประธานอาเซียน สนับสนุนกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) แล้วเสร็จภายในปี 2562 ซึ่งสมาชิกมีมูลค่าการค้ารวมกันกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 29% ของมูลค่าการค้าโลก

2. การส่งออกไทยยังขยายตัวได้ดีในหลายตลาด โดยเฉพาะตลาดอินเดียและตลาดดาวรุ่ง เช่น แคนาดา รัสเซีย และซีไอเอส โดยสินค้าเกษตร อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าเครื่องสำอาง ยังขยายตัวได้ดีมาก 3. ผลการตัดสินขององค์การการค้าโลก (WTO) กรณีที่จีนผิดข้อตกลง WTO ในการจัดสรรโควตาสินค้าเกษตรจำพวกข้าว และข้าวโพดตามที่สหรัฐอเมริกาได้ทำการฟ้องร้อง อาจเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนได้เพิ่มขึ้น

4. กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายในการจัดสรรงบประมาณสำหรับช่วยเหลือผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบการเปิดเสรีทางการค้า (กองทุน FTA) ซึ่งเป็นการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ 5. สหรัฐฯ ยืนยันไม่ขึ้นภาษีส่วนที่เหลืออกี 3.25 แสนล้านดอลลาร์จากจีน และส่งสัญญาณกลับมาสู่การเจรจากันอีกครั้ง ทำให้บรรยากาศการค้าโลกดีขึ้น

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท.กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงอีก 2-3 เดือนข้างหน้าจะได้รับผลกระทบจากภาวะเงินบาทแข็งค่า เนื่องจากช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่มากกว่าผลกระทบจากสงครามการค้า

"เรื่อง Trade War และอัตราแลกเปลี่ยน สองปัจจัยนี้ก็สามารถน็อคการส่งออกได้แล้ว" นายวิศิษฐ์ กล่าว

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า การส่งออกได้รับปัจจัยลบหลายอย่าง แต่การที่ไทยสามารถขยายตลาดส่งออกกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ไว้ก่อนหน้านี้ช่วยลดผลกระทบได้บางส่วน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็ยังเดินหน้าขยายตลาดเพิ่มเติมต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ