ธปท.เปิดรายงานกนง. ระบุนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีความเหมาะสม ยังติดตามปัจจัยเสี่ยงใน-ตปท.ต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 10, 2019 10:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2562 ซึ่งคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากการส่งออกสินค้าและบริการเป็นสำคัญ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มใกล้เคียงกับขอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อ

ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นและสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับในระยะข้างหน้ายังม่ความไม่แน่นอนสูงทั้งปัจจัยต่างประเทศและในประเทศ คณะกรรมการฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้

โดยได้อภิปรายปัจจัยที่มีผลต่อการพิจารณาดำเนินนโนยบายการเงิน ดังนี้

1) เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกสินค้าและบริการเป็นสำคัญ โดยการส่งออกสินค้าขยายตัวชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้มาก ตามเศรษฐกิจคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2562 จะขยายตัวได้ 3.3% ส่วนปี 2563 ขยายตัวได้ 3.7% ต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 3.8% และ 3.9% ตามลำดับ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงรายได้และการจ้างงานที่มีสัญญาณชะลอลงในภาคการผลิตเพื่อส่งออก

ด้านการลงทุนภาคเอกชน มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงในปีนี้ แต่การย้ายฐานการผลิตมายังไทยและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐาน จะช่วยสนับสนุนการลงทุนในระยะต่อไป สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐ มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่คาดว่าจะล่าช้าเป็นสำคัญ

คณะกรรมการฯ เห็นว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งอาจกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยเฉพาะ 1.การกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่อาจรุนแรงและยืดเยื้อ จนส่งผลให้ปริมาณการค้าโลกชะลอลงมากกว่าคาดและกระทบต่อการส่งออกของไทย 2.แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักและจีน ที่อาจต่ำกว่าคาดและส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศ ขณะที่ความไม่แน่นอนภายในประเทศที่สำคัญ ได้แก่ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ใช้เวลานาน อาจส่งผลต่อความต่อเนื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงนโยบายของรัฐบาลใหม่ เช่น นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ และนโยบายสวัสดิการต่างๆ

2) ความเสี่ยงบางจุดในระบบการเงิน อาจสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต เช่น 1.การก่อหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่สัดส่วน NPL ในหมวดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากการเพิ่มขึ้นของ NPL รายใหม่ 2.พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร 3.ความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอุปทานคงค้างในบางพื้นที่ และอุปสงค์จากต่างชาติที่ปรับลดลงจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลง

คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ดำเนินการไปในช่วงก่อนหน้า ช่วยลดความเปราะบางในระบบการเงินได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี การดูแลและป้องกันความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในระยะต่อไป ยังจำเป็นต้องได้รับการดูแลด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย ทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสม มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามผลของมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไป รวมทั้งให้ศึกษามาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการที่เหมาะสมเพิ่มเติม เพื่อป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

3) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี มีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ และอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ แต่เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปยังมีความไม่แน่นอนจากความผันผวนของราคาน้ำมัน ความผันผวนของสภาพอากาศและภัยแล้ง รวมทั้งความไม่แน่นอนของนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำที่อาจปรับเพิ่มในปีนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้อภิปรายเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงิน โดยเห็นว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงตามแรงส่งจากอุปสงค์ต่างประเทศเป็นสำคัญ แต่มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวใกล้เคียงระดับศักยภาพได้ในระยะต่อไป ขณะที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูงทั้งปัจจัยต่างประเทศและในประเทศ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันจึงยังมีความเหมาะสม

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบของการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ