ซิตี้แบงก์หั่น GDP ปีนี้เหลือ 3.3% เหตุภาคส่งออกชะลอ แนะรัฐเร่งผลักดันโครงการลงทุนหนุนศก.ระยะยาว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 11, 2019 14:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.นลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 62 ยังคงได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังไม่สิ้นสุด ส่งผลกระทบให้ภาคการส่งออกไทยชะลอตัว และกดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ดังนั้นจึงทำให้ธนาคารปรับลดประมาณการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) เหลือเติบโต 3.3% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 3.8% โดยภาคการส่งออกไทยเป็นปัจจัยกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมากที่สุด โดยคาดว่าการส่งออกไทยในปีนี้จะขยายตัวได้น้อยกว่า 3%

นอกจากนี้ การท่องเที่ยวไทยแม้ว่ายังสามารถขยายตัวได้ แต่มีแนวโน้มของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เปลี่ยนจากการเดินทางท่องเที่ยวไทยไปยังเกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่นแทน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยลดลง อีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนยังชะลอตัวอยู่บ้าง แม้ว่าราคาพืชผลทางการเกษตรบางรายการจะเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่การกระจายรายได้ไปยังครัวเรือนส่วนใหญ่ยังไม่ทั่วถึง เพราะในช่วงที่ผ่านมา การลงทุนต่างๆ ของภาครัฐยังไม่ออกมา ทำให้มีเม็ดเงินกระจายไปยังภาคครัวเรือนได้น้อย ส่งผลกระทบต่อการบริโภคที่ยังชะลอตัว

ขณะเดียวกัน การลงทุนภาคเอกชนก็ยังคงชะลอตัว เนื่องจากไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจและความผันผวนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ประกอบกับรอดูความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว แต่ทั้งนี้ ต้องติดตามว่าหลังจากจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นแล้วจะมีการผลักดันโครงการลงทุนต่างๆ ออกอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารมองว่ารัฐบาลควรเร่งผลักดันการลงทุนโครงการต่างๆ ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวออกมา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชน และทำให้เกิดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ซึ่งจะมีเม็ดเงินกระจายออกไป ช่วยภาพรวมของเศรษฐกิจไทยได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

น.ส.นลิน ยังกล่าวถึงค่าเงินบาทในปัจจุบันที่แข็งค่าไปค่อนข้างมากโดยหลุดระดับ 31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯไปนั้น มองว่าเป็นผลมาจากการไหลเข้าของกระแสเงินทุนที่เข้ามาในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นไทย หลังจากที่คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมเดือนก.ค.นี้ ประกอบกับประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจนำเงินเข้ามาพักไว้ เพราะถือว่าเป็น Safe Heaven เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศสูง ค่าเงินบาทไม่มีความผันผวนมาก และมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังคงเกินดุลสูงในะดับ 6% ของ GDP ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากในช่วงนี้

ทั้งนี้ ธนาคารประเมินว่าค่าเงินบาทในปีนี้จะเคลื่อนไหวในช่วง 31.20-31.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมที่ 31-32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมองว่าการจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงนั้น ภาครัฐควรเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณออกมาผ่านการผลักดันการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ เพื่อทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดลดการเกินดุลลง แม้ว่าอาจจะมีการเลื่อนการใช้งบประมาณปี 63 ออกไป แต่ยังมีงบประมาณของปีก่อน (2562) ที่ยังใช้ไม่หมดอยู่อีกราว 3 แสนล้านบาท ที่สามารถนำมาใช้รองรับการเบิกจ่ายการลงทุนต่างๆของรัฐได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ