นักวิชาการถกอนาคตเศรษฐกิจโลกท่ามกลางความขัดแย้งจีน-สหรัฐหลังเวที G20

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 12, 2019 18:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ยังคงยืดเยื้อ ได้ถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน มาพบกันในช่วงการประชุม G20 ที่เมืองโอซาก้า ของญี่ปุ่น เมื่อปลายเดือนที่แล้ว โดยผู้นำทั้งสองได้ตัดสินใจหารือกันนอกรอบการประชุมเพื่อยุติความขัดแย้งที่ค้างคาอยู่ ในขณะที่ทั่วโลกต่างก็จับตาประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีนจึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต เชิญเหล่านักวิชาการมาร่วมหารือประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาในงานเสวนาหัวข้อ "สงครามการค้าจีน-อเมริกา ฟ้าสว่างหรือทางมืด หลังเวที G20" เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองถึงทิศทางในอนาคตของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกและกับประเทศไทย

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน กับท่าทีประเทศของต่างๆ บนเวที G20

งานเสวนาวันนี้ เปิดฉากด้วยการอธิบายภาพรวมการประชุม G20 โดยคุณบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งระบุว่า การประชุม G20 นอกจากจะมีความสำคัญในบริบทของการค้าและเศรษฐกิจโลกแล้ว ยังเป็นเวทีที่ผู้นำประเทศต่างๆ ใช้เป็นเวทีหารือในประเด็นที่สำคัญๆ ที่ส่งผลกระทบต่อทั่วโลก เช่นปีนี้ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องข้อพิพาทระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่กำลังได้รับความสนใจและถูกกล่าวถึงไปทั่วโลก

คุณบุษฎีอธิบายต่อไปว่า จีนและสหรัฐอเมริกาสถาปนาความสัมพันธ์กันมาเป็นเวลา 40 ปีแล้ว และด้วยความที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็เป็นมหาอำนาจเหมือนๆกัน ทั้งสองประเทศจึงให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันในความสัมพันธ์เป็นหลัก แม้จะมีนโยบายที่แตกต่างกันไปบ้างในแต่ละยุคสมัยของรัฐบาลสหรัฐ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรคอะไร และปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็มาจากการที่สหรัฐมียอดขาดดุลการค้ากับจีนในระดับสูง ซึ่งผู้นำคนปัจจุบันของสหรัฐมองว่าเป็นการเสียผลประโยชน์สำหรับประเทศ จึงพยายามที่จะเรียกเก็บภาษีสินค้าจากจีนมากขึ้น ในขณะที่จีนเองก็ตอบโต้ด้วยการระงับสิทธิประโยชน์ทางการค้าที่มอบให้กับสหรัฐ จนเรื่องราวลุกลามบานปลายกลายมาเป็นสงครามการค้าในที่สุด

คุณบุษฎีกล่าวว่า เมื่อจีนและสหรัฐซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจด้วยกันทั้งคู่เกิดขัดแย้งกันขึ้น ย่อมสร้างความเสียหายให้กับทั่วโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้ และประเด็นนี้ก็ได้สร้างความกังวลให้กับทั้งไทยเองและประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอยู่ไม่น้อย ซึ่งในการประชุมอาเซียนครั้งล่าสุด ที่ประชุมก็ได้หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาหารือว่า อาเซียนจะอยู่ที่ไหนและจะเป็นอย่างไรต่อไป อย่างไรก็ตาม คุณบุษฎีเสริมว่า สำหรับไทยแล้ว เรามีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับจีน สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆในเวทีโลก ซึ่งนี่จะเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้เราสามารถก้าวผ่านความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่าย

ความขัดแย้งของสองขั้วอำนาจสร้างแรงสะเทือนทั่วโลก

ในส่วนของผลกระทบที่เกิดจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐนั้น คุณสุจิต ชัยวิชญชาติ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค สายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด (มหาชน) อธิบายว่า อันดับแรกเลยก็คือการซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะชะลอตัวอยู่แล้ว พอเศรษฐกิจชะลอตัวก็ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องปรับนโยบายการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐและจีนซึ่งเป็นคู่พิพาทที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จนอาจนำไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทำให้เงินอ่อนค่า และกระทบต่อการส่งออกของประเทศต่างๆ

สำหรับประเทศไทยนั้น คุณสุจิตกล่าวว่า จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของทั้งเศรษฐกิจโลก ซึ่งรวมถึงจีนและสหรัฐ เพราะไทยเป็นซัพพลายเชนของทั้งสองประเทศ ในขณะเดียวกันการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ยังมีแนวโน้มที่จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งจะส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง และกระทบต่อผู้ส่งออกของไทย

คุณสุจิตเสริมว่า การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นในตอนนี้นั้น แม้จะทำให้ผู้ส่งออกได้รับผลกระทบ แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็สะท้อนความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาไทยมีทั้งยอดเกินดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด จึงทำให้ถูกมองว่าเป็น Safe Haven ของภูมิภาคเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลาย จึงมีเงินไหลเข้ามาในประเทศมาก

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย คุณสุจิตกล่าวว่า ปัจจัยที่จะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตัดสินใจขึ้นหรือลดดอกเบี้ยนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายประการ ทั้งทิศทางดอกเบี้ยของประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจหลายอย่าง ซึ่งหากมองไปที่ข้อมูลเศรษฐกิจของไทยในตอนนี้แล้ว ก็จะเห็นได้ว่า การบริโภคภายในประเทศของเรายังโตขึ้น ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องระวังถึงหนี้สินภาคครัวเรือนที่จะเกิดขึ้นตามมา เพราะการลดดอกเบี้ยจะเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายทั้งระบบ

นักวิชาการหวั่นข้อพิพาทยืดเยื้อถึงศึกเลือกตั้งสหรัฐสมัยหน้า

ดร.ธารากร วุฒิสถิรกูล รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า "เรื่องของสงครามการค้า ผมขอใช้คำว่าการพิพาททางการค้าระหว่างจีน-อเมริกา ดีกว่า เพราะว่า จีนกับอเมริกา ไม่ได้มีแค่เรื่องของภาษีอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องอื่นที่น่าสนใจอีก เช่น เรื่องนวัตกรรม เป็นต้น และในการประชุม G20 ที่ผ่านมา ทั้งสองฝั่งได้มีการแลกเปลี่ยนการให้คำมั่นสัญญากันในหลายเรื่อง ผมมองว่าข้อพิพาทระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่ ครั้งนี้ไม่สามารถจบได้ง่ายๆเพราะไม่ใช่แค่เรื่องภาษี เรื่องเดียว แต่ยังมีเรื่องของเทคโนโลยี เรื่อง 5G เข้ามาเกี่ยวข้อง ตอนนี้จีนล้ำหน้าเรื่องเทคโนโลยีมากกว่าประเทศอื่นๆด้วยซ้ำ แต่ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว การพิพาทในครั้งนี้อาจยืดเยื้อไปจนถึงการหาเสียงของทรัมป์ในสมัยหน้า"

สำหรับโครงการ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" หรือ "One Belt One Road" ซึ่งริเริ่มขึ้นในปี 2013 เป็นโครงการที่เชื่อมต่อจีนกับภูมิภาคอื่นๆ โดยไทยก็เป็นหนึ่งในเส้นทางของโครงการนี้ด้วย ในทางฝั่งจีนกับอาเซียน เมื่อเกิดสงครามพิพาทการค้าครั้งนี้ เศรษฐกิจการค้าระหว่างจีนกับฝั่งทางยุโรป จะถูกเปลี่ยนกลับมาทางอาเซียน ไทยเราเป็นศูนย์กลางของอาเซียนที่ดี

"โครงการนี้เป็นเพียงโยบายทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง การค้า วัฒนธรรมที่หล่อหลอมภูมิภาคนี้เข้าด้วยกัน ในภาพรวมด้านเศรษฐกิจหากเราใช้นโยบายของ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" เราจะอยู่กันได้ มันสามารถถ่วงน้ำหนักในสงครามการค้าครั้งนี้ได้เยอะ" ดร.ธารากรกล่าว

ดร.ภูมิพัฒณ์ พงศ์พฤติกุล นักวิจัยอาวุโส วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณทิตย์มีมุมมองเดียวกันกับ ดร.ธารากร ในเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีน โดยยกตัวอย่างของบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ว่า เริ่มมาจากการเป็นบริษัทเล็กๆ แบบที่เรียกกันว่า แบรนด์เสิ่นเจิ้น หรือเป็นที่รู้จักกันว่าแบรนด์ระดับล่างของจีน แต่ด้วยความมุ่งมั่นของกลุ่มที่ต้องการจะพัฒนานวัตกรรม เพื่อไล่ตามสหรัฐอเมริกาให้ทัน จนประสบความสำเร็จเป็นแบรนด์ระดับโลกในทุกวันนี้

ดร.ภูมิพัฒณ์เสริมว่า ปัญหาที่มีอยู่ตอนนี้ก็คือ โลกได้เปลี่ยนไป จากเดิมที่โลกตะวันตกเป็นผู้นำนวัตกรรม แต่ตอนนี้กลับกลายมาเป็นโลกตะวันออกแทน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่านี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หัวเว่ยถูกดึงเข้าไปกลางสมรภูมิสงครามระหว่างจีนกับสหรัฐในครั้งนี้

สงครามการค้ากระทบการส่งออกของไทย

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า "ถ้าพูดในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไทยเรายังต้องอาศัยในเรื่องของการส่งออก ซึ่งในปัจจุบันมีความแออัด และไทยประสบปัญหาในเรื่องนี้อยู่ ควรส่งเสริมให้เกิดการส่งออกมากขึ้น และอย่าให้สิทธิประโยชน์แต่กับต่างชาติ ควรให้สิทธิประโยชน์กับผู้ประกอบการในไทยด้วย เพราะไทยเราสามารถสร้างธุรกิจได้เองด้วย ควรหันกลับมามองประเทศไทยบ้าง สำหรับนโยบาย "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" จะสามารถช่วยไทยในแง่การส่งออกได้ ในเรื่องของการกระจายสินค้า แต่ก็คงไม่ได้พึ่งพาแค่ตลาดใดตลาดเดียว ไทยสามารถเป็นพันธมิตรกับทุกประเทศได้"

ประธานสภาผู้ส่งสินค้าฯ กล่าวว่า สินค้าส่งออกของไทยไม่มีสินค้าใหม่ๆ ไม่มีสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม ตัวเลขการส่งออกของไทย ผ่านมา 5 เดือน ยังไม่มีเดือนไหนเลยที่สูงกว่าตัวเลขการส่งออกของปีที่ผ่านมา โอกาสที่ยอดการส่งออกของไทยจะเติบโตขึ้นในเดือนที่เหลือคงเป็นไปไม่ได้ ค่อนข้างจะชัดเจนว่าสงครามการค้าส่งผลกระทบให้ไทยส่งออกไปจีนน้อยลง แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ประเทศไทยส่งสินค้าบางกลุ่มให้สหรัฐอเมริกาได้ ผลกระทบในตลาดอื่นๆนั้น ไทยเราก็ติดลบค่อนข้างเยอะ สงครามการค้าทำให้เกิดการหดตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาสินค้าที่ขายในสหรัฐอเมริกาปรับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภคไม่กล้าซื้อของ จึงทำให้เกิดการหดตัวในกลุ่มประเทศต่างๆด้วย

เมื่อสองขั้วอำนาจปะทะกัน ผลกระทบย่อมแผ่กระจายไปทั่วทุกแห่งอย่างเลี่ยงไม่ได้ นอกจากคำถามที่ว่า ความขัดแย้งครั้งนี้จะสิ้นสุดลงอย่างไร สงครามนี้จะจบลงเมื่อไหร่แล้ว สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การรู้ทันและปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาให้ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ