พาณิชย์เตรียมเป็นเจ้าภาพประชุมบอร์ด AFSRB ถกความมั่นคงทางอาหารระดับอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 22, 2019 12:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ กรมการค้าต่างประเทศได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Food Security Reserve Board : AFSRB) ครั้งที่ 39 ระหว่างวันที่ 15-16 ส.ค.62 โดยจะเป็นเวทีสำคัญสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์และแนวโน้มการผลิต การบริโภค การค้า และปริมาณสต็อกสินค้าอาหารหลักของอาเซียน 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด น้ำตาล และถั่วเหลือง ตลอดจนติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

"การประชุม AFSRB ครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งเวทีที่ไทยจะได้แสดงศักยภาพความเป็นผู้นำในด้านการผลิตและการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวไทย รวมถึงเวทีดังกล่าวยังใช้เป็นกลไกสำคัญของสมาชิกอาเซียนในการรับมือและติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคงทางอาหาร และแบ่งปันประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค เพื่อให้อาเซียนกลายเป็นฐานความมั่นคงทางอาหารของโลกอย่างยั่งยืน" นายอดุลย์ กล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าวจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 23 โดยกรมฯ ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการถาวร AFSRB ซึ่งกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการฯ ระหว่างประเทศสมาชิกเป็นประจำทุกปี โดยกรอบฯ ดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในกรอบความร่วมมือด้านอาหารระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค เสริมสร้างความร่วมมือเพื่อสร้างความเข้มแข็งระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า จากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งภัยธรรมชาติต่างๆ ล้วนส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ความมั่นคงและยั่งยืนด้านอาหารของประเทศ ซึ่งรัฐบาลไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้กำหนดนโยบายที่มุ่งมั่นส่งเสริมอุตสาหกรรมสินค้าเกษตรของไทยให้เติบโตและพัฒนาให้เท่าทันกับสภาวะตลาดและกลไกทางเศรษฐกิจของโลก เพื่อให้สินค้าเกษตรหลักโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าว ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญที่สุดของประเทศ เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน กรมฯ มั่นใจว่า การประชุมในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างความเข้มเข็งในกลุ่มประเทศสมาชิก สร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร และสามารถลดปัญหาอุปสรรคทางการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกันต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ