พาณิชย์เผยมิ.ย.62 ยอดจัดตั้งธุรกิจใหม่ 5,586 ราย ลด 14% มองความเสี่ยงศก.-การเมืองกระทบความเชื่อมั่น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 23, 2019 12:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางโสรดา เลิศอาภาจิตร์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการยื่นจดทะเบียนธุรกิจในเดือนมิ.ย.62 และช่วงครึ่งปีแรกว่า ในส่วนของธุรกิจจัดตั้งใหม่ มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศในเดือนมิ.ย.62 จำนวน 5,586 ราย เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.62 จำนวน 5,942 ราย ลดลง 356 ราย คิดเป็น 6% และเมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.61 จำนวน 6,514 ราย ลดลง 928 ราย คิดเป็น 14%

โดยประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 497 ราย คิดเป็น 9% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 328 ราย คิดเป็น 6% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร 168 ราย คิดเป็น 3% ทั้งนี้ มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ในเดือนมิ.ย.62 มีจำนวนทั้งสิ้น 15,147 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.62 จำนวน 35,218 ล้านบาท ลดลง 20,071 ล้านบาท คิดเป็น 57% และเมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.61 จำนวน 24,589 ล้านบาท ลดลง 9,442 ล้านบาท คิดเป็น 38%

ขณะที่จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการในเดือนมิ.ย.62 มีจำนวน 1,264 ราย เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.62 จำนวน 1,130 ราย เพิ่มขึ้น 134 ราย คิดเป็น 12% และเมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.61 จำนวน 1,392 ราย ลดลง 128 ราย คิดเป็น 9% โดยประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 115 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 87 ราย คิดเป็น 7% และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ 47 ราย คิดเป็น 4%

สำหรับในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.62) ในส่วนของธุรกิจจัดตั้งใหม่ มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ ครึ่งปีแรก 38,222 ราย เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2561 (ก.ค.-ธ.ค.) จำนวน 34,561 ราย เพิ่มขึ้น 3,661 ราย คิดเป็น 11% และเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2561 จำนวน 37,548 ราย เพิ่มขึ้น 674 ราย คิดเป็น 2% โดยประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 3,327 ราย คิดเป็น 9% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 2,212 ราย คิดเป็น 6% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 1,020 ราย คิดเป็น 3%

ขณะที่จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการในช่วงครึ่งปีแรกมีจำนวน 6,667 ราย เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2561 (ก.ค.-ธ.ค.) จำนวน 15,486 ราย ลดลง 8,819 ราย คิดเป็น 57% และเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2561 (ม.ค.-มิ.ย.) จำนวน 6,289 ราย เพิ่มขึ้น 378 ราย คิดเป็น 6% โดยประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 717 ราย คิดเป็น 11% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 409 ราย คิดเป็น 6% และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการอื่นๆ 179 ราย คิดเป็น 3%

ส่งผลให้ ณ วันที่ 30 มิ.ย.62 ยังคงมีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศทั้งสิ้น 737,252 ราย มูลค่าทุน 16.79 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 184,272 ราย คิดเป็น 24.99% บริษัทจำกัด 551,736 ราย คิดเป็น 74.84% และบริษัทมหาชนจำกัด 1,244 ราย คิดเป็น 0.17%

นางโสรดา กล่าวถึงแนวโน้มการจัดตั้งธุรกิจในประเทศไทยด้วยว่า เมื่อประเมินจากอัตราการเติบโตของ GDP และแนวโน้มด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงแนวโน้มการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจตามฤดูกาล (Seasonal Trend) พบว่า โดยปกติจะมีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี แต่อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง ยังถือเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในการจัดตั้งธุรกิจสำหรับไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ได้

ส่วนการลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวนั้น ล่าสุดในเดือนมิ.ย.62 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจ 42 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจจำนวน 16 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจจำนวน 26 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 8,322 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพ.ค.62 จำนวนธุรกิจที่คนต่างชาติเข้ามาลงทุนลดลง 11% (ลดลง 5 ราย) ในขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 26% (เพิ่มขึ้น 1,723 ล้านบาท) โดยนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 14 ราย เงินลงทุน 2,999 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ จำนวน 7 ราย เงินลงทุน 178 ล้านบาท และจีน 2 ราย เงินลงทุน 115 ล้านบาท

ขณะที่ครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.62) คนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจรวมทั้งสิ้น 287 ราย มีเงินลงทุนรวม 54,293 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรากฏว่าจำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลง 84 ราย คิดเป็น 23% ขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 7,933 ล้านบาท คิดเป็น 17% เนื่องจากปี 2562 มีต่างชาติลงทุนประกอบธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง อาทิ บริการรับค้ำประกันหนี้ บริการเป็นศูนย์บริหารเงิน (Treasury Center) บริการงานวิศวกรรม การจัดหา ติดตั้ง เช่น การใช้งานระบบเครื่องบดดินหรือหินกึ่งเคลื่อนที่โครงการแม่เมาะ การบำรุงรักษาโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน อุปกรณ์ที่ใช้ในหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ