(เพิ่มเติม) รมว.คลัง พร้อมให้ 111 อดีต ทรท.เข้ามาเป็นบอร์ด รสก.หากคุณสมบัติไม่ขัด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 13, 2008 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า พร้อมที่จะให้อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย(ทรท.) เข้ามาทำหน้าที่คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจต่างๆ แต่ทั้งนี้จะต้องพิจารณาคุณสมบัติว่าครบถ้วนหรือไม่ โดยหากไม่มีข้อห้ามตามกฎหมายก็สามารถเข้ามาเป็นคณะกรรมการได้ และควรพิจารณาจากความรู้ความสามารถ ซึ่งถือว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กรรัฐวิสาหกิจ
"อดีตกรรมการบริหารทั้ง 111 คน แม้จะถูกตัดสิทธิเข้ายุ่งเกี่ยวทางการเมือง แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความรู้ความสามารถ ดังนั้นหากมีคุณสมบัติที่ไม่มีข้อห้ามตามกฎหมายก็สามารถเข้ามาเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจได้ แต่อยากให้เน้นคนมีความรู้ความสามารถ ซึ่ง 111 คน อาจจะไม่ได้รับรู้ในทุกเรื่อง บางเรื่องอาจเชี่ยวชาญหรือไม่เชี่ยวชาญก็ได้" นพ.สุรพงษ์ ระบุ
รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจนั้นไม่ว่าจะแต่งตั้งใครเข้ามาทำหน้าที่ก็มักถูกโยงว่าเกี่ยวข้องกับการเมือง ดังนั้นอย่าไปกังวลว่าตั้งแล้วจะไม่กล้าทำอะไร แต่ต้องดูว่าเข้ามาแล้วทำงานได้ดีหรือไม่ และสามารถช่วยพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพได้หรือไม่
ทั้งนี้ กรอบเป้าหมายของรัฐบาลคือต้องการพัฒนาประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งมีตัวอย่างของรัฐวิสาหกิจที่สามารถบริหารจัดการได้ดีแล้ว เช่น บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ดังนั้นจึงต้องการเห็นรัฐวิสาหกิจทุกแห่งมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีเช่นกัน
นพ.สุรพงษ์ ยังกล่าวถึงแนวทางการพัฒนาตลาดทุนด้วยว่า ตลาดทุนถือเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจการเงินของประเทศ ซึ่งต้องมีการส่งเสริมให้ตลาดทุนสามารถพัฒนาและเติบโตขึ้น ขณะเดียวกันต้องไม่ทำให้มีการใช้ตลาดทุนไปในทางเก็งกำไรหรือสร้างภาพลวงทางเศรษฐกิจ
โดยรัฐบาลต้องการให้ตลาดทุนเป็นอีกลู่ทางให้ภาคเอกชนเป็นแหล่งระดมเงินเพื่อให้ตลาดทุนเติบโตได้ ขณะเดียวกันตลาดทุนต้องมีความโปร่งใส มีหลักธรรมาภิบาล ดังนั้นหากมีบริษัทเอกชนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลพร้อมจะส่งเสริม เพราะถือเป็นเรื่องที่ดี แต่การให้รัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไม่ใช่นโยบายที่รัฐบาลจะดำเนินการ แต่ต้องการเน้นให้รัฐวิสาหกิจมีการพัฒนาประสิทธิภาพมากกว่า
"หากรัฐวิสาหกิจไม่ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ ก็คงไม่มีใครอยากเข้ามาถือหุ้น ดังนั้นการจะผลักดันให้รัฐวิสาหกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์จึงยังเป็นเรื่องไกลตัว" นพ.สุรพงษ์ กล่าว
พร้อมกันนี้มองว่าองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ถือเป็นองค์กรที่มีศักยภาพ แต่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงและบริหารจัดการที่ดีกว่านี้ เพื่อทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ทั้งในแง่ของการให้บริการประชาชนและในส่วนของพนักงาน
ส่วน บมจ.ปตท.(PTT) ที่มีปัญหาเรื่องการโอนท่อก๊าซนั้น เป็นปัญหาเพราะก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการพูดคุยกันหลายประเด็น ดังนั้นในอนาคตจึงเป็นเรื่องที่รัฐวิสาหกิจที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบทุกแง่มุม รวมถึงสิทธิที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยรวม
สำหรับกระแสข่าวการตั้งกองทุนวายุภักษ์ 2 เพื่อนำเงินมาใช้ระดมทุนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้านั้น นพ.สุรพงษ์ ยอมรับว่า เป็นแนวคิดที่มีผู้เสนอมา แต่ต้องขอศึกษาภาพรวมให้รอบด้านก่อน ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังดูมาตรการที่จะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมาเป็นแพ็คเกจก่อน
ดังนั้นจึงต้องมองภาพรวมของปัญหาและดูว่าจะมีมาตรการใดที่จะสามารถมองเห็นถึงภาพรวมเศรษฐกิจ โดยจะไม่ดูเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ซึ่งการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์เป็นเพียงการรับข้อมูล เพื่อที่รัฐบาลจะมาดูว่าโดยภาพรวมเศรษฐกิจแล้วจะเป็นประโยชน์หรือไม่
"ตอนนี้เราต้องการนำข้อมูลมาให้ครบ และมาคิดทั้งหมด เพื่อจะออกมาเป็นชุดมาตรการว่ามีอะไรบ้าง ดังนั้นตอนนี้มาตรการที่มีการเสนอ เราก็รับฟังเพื่อให้มาตรการที่ออกมา ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจ" นพ.สุรพงษ์ กล่าว
นพ.สุรพงษ์ ยังเปิดเผยว่า ได้เสนอชื่อรายชื่อผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและเลขานุการ ทั้งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและตำแหน่ง รมว.คลัง แล้ว โดยตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีนั้นเสนอให้นายไชยยง รัตนอังกูร เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายปานปรีย์ พหิธานุกร เป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี
ส่วนตำแหน่ง รมว.คลังนั้น เสนอให้ น.ส.ภูวนิดา คุณผลิน เป็นเลขานุการรัฐมนตรี และให้นายสำราญ ภูวอนันตานนท์ เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี
ขณะที่นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลังนั้นจะมีนายเกษมสันต์ วีระกุล เป็นเลขานุการรัฐมนตรี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ