CIMBT เผยกนง.ลดดอกเบี้ยเหนือคาด เชื่อเดินหน้าลดอีกรอบ-ใช้เครื่องมืออื่นประคองเสถียรภาพตลาดเงินตลาดทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 7, 2019 17:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบนี้ลดดอกเบี้ยจาก 1.75% เหลือ 1.50% นับว่าเหนือความคาดหมายที่ลดเร็วกว่าคาด จากก่อนหน้านี้มองว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยช่วงปลายปี และไม่ได้มีการส่งสัญญาณก่อนหน้าเหมือนปกติที่ก่อนจะทำอะไรมักจะเห็นเสียงแตกของกนง. เช่น จากมติ 7-0 ที่คงดอกเบี้ยในการประชุมรอบก่อนหน้า น่าจะออกผลด้วยมติ 6-1 หรือ 5-2 ก่อน แต่กลับมีการลดดอกเบี้ยในรอบนี้เลย โดยให้เหตุผลว่ามาจากความเสี่ยงที่มากขึ้น และจากเศรษฐกิจที่ชะลอ

"ผมเชื่อว่าวันนี้เป็นการประกาศสงครามค่าเงินอีกรูปแบบหนึ่งที่เราเองต้องกระโจนเข้ามา หลังจากที่วันนี้เองแบงก์ชาตินิวซีแลนด์ลดดอกเบี้ย แบงก์ชาติอินเดียก็ลดดอกเบี้ย แบงก์ชาติของไทยก็ต้องเข้ามาร่วมวงด้วยเป็นการเข้ามาพร้อมกันทีเดียวในภูมิภาคนี้เพื่อเปิดศึกสงคราม ที่สำคัญคือ เพื่อดึงให้เศรษฐกิจในประเทศไม่ให้ชะลอมากไปกว่านี้

แต่วันนี้ต้องมองต่อ แบงก์ชาติเพิ่งขึ้นดอกเบี้ยไปเดือนธันวาคม แล้วกลับมาลดเหลือ 1.5% อยากให้เราถาม คำถามแบงก์ชาติ 2 ข้อครับ 1. แบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยต่อไหม ลดต่อในปีนี้หรือปีหน้า 2. สิ่งที่แบงก์ชาติกังวลไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพ เศรษฐกิจเรื่องของหนี้ครัวเรือนสูง คนลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงเกินตัว แบงก์ชาติยังห่วงอยู่ไหม ผมว่า 2 คำถามนี้เป็นคำถามที่ต้องตีให้แตกและมองต่อ" นายอมรเทพ กล่าว

ทั้งนี้ นายอมรเทพ คาดว่า ธปท.จะลดดอกเบี้ยต่อ เนื่องจากเมื่อเปิดประตูดอกเบี้ยขาลงแล้วมีความเป็นไปได้ที่จะลดต่อ และเชื่อว่าจะพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจเป็นหลัก จีดีพีไตรมาส 2 ที่จะรายงานกลางเดือนนี้ ถ้าออกมาแย่ เป็นไปได้ที่กนง.จะลดดอกเบี้ยอีกครั้งกันยายนนี้ หรืออาจจะรอต่อไป คือรอจีดีพีไตรมาส 3 ที่จะรายงานในเดือนพ.ย.แล้วลดดอกเบี้ยอีกครั้งเดือนธันวาคมก็ยังไม่สาย

นอกจากนี้ ต้องจับตาดูว่า ธปท.อาจจะใช้เครื่องมืออื่น นอกจากดอกเบี้ย เพื่อประคองเสถียรภาพตลาดเงินตลาดทุน ออกมาตรการ LTV ไปแล้ว อาจจะดูเรื่อง DSR เกณฑ์วัดในการปล่อยสินเชื่อสำหรับลูกค้า เป็นปัจจัยที่น่าติดตามกันต่อไป เพราะธปท.ยังเป็นห่วงหนี้ครัวเรือนที่สูง กระทบต่อเสถียรภาพตลาดเงินตลาดทุน ห่วงเรื่อง policy space

นายอมรเทพ ย้ำว่า การลดดอกเบี้ยของธปท. คงเหมือนการที่ธปท.ไม่ขอทนต่อไปแล้วสำหรับสงครามการค้าที่ลามมาสู่สงครามค่าเงินที่ไทยเป็นเหยื่อของภาคการส่งออกที่ย่ำแย่ และจากเงินบาทที่แข็งค่า แต่การลดดอกเบี้ยนี้ คงมีผลไม่มากที่จะทำให้สินเชื่อเติบโตจนพอจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะทางธปท. คงห่วงเรื่องเสถียรภาพตลาดเงินอยู่ และยังไม่หย่อนเกณฑ์ในการกำกับธนาคารพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม หวังว่าทางรัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีขึ้น และกระจายตัวไปสู่ระดับ SME และฐานรากของประเทศ

"วันนี้ ค่าบาทแข็งค่าที่สุดในภูมิภาคและออกข่าวต่างประเทศหลายวันว่าเศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาบาทแข็งจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งไม่ว่าจะเป็นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูง แม้ว่าส่งออกจะย่ำแย่แต่มีรายได้จากการท่องเที่ยว ที่สำคัญก็คือ เมื่อจีนชะลอแต่เราไม่ได้อยู่ในซัพพลายเชนหรือผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน หรือภาคการส่งออกมากนัก ทำให้บาทเองเป็นที่พักของนักลงทุนต่างชาติ บาทแข็งแรงแล้วกระทบความสามารถในการแข่งขันผู้ส่งออก ย้อนกลับมาเรื่องของเศรษฐกิจที่ชะลอและเงินเฟ้อต่ำได้ เพราะฉะนั้นมองต่อไป เศรษฐกิจวันนี้อยู่ในช่วงของการชะลอ แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย 5-2 วันนี้หวังผล กระตุ้นเศรษฐกิจและดึงเงินเฟ้อให้ขยับดีขึ้น"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ