(เพิ่มเติม) ผู้ว่า ธปท.ระบุ กนง.ยังให้ความสำคัญดูแลเสถียรภาพระบบการเงินในภาวะดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องหลังลดดอกเบี้ยครั้งล่าสุด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 13, 2019 12:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังให้ความสำคัญกับเสถียรภาพระบบการเงิน แม้ว่าบางมาตรการที่ ธปท.เคยประกาศออกไปได้ส่งผลในทิศทางที่ต้องการ แต่ในภาวะที่ดอกเบี้ยจะต่ำอย่างต่อเนื่องนั้น ยังจำเป็นที่ต้องดูแลเสถียรภาพของะรบบการเงินเพื่อไม่ให้มีการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรและสร้างความเปราะบางให้ระบบการเงินในอนาคต

"เหล่านี้จึงเป็นตัวอย่างที่ต้องผสานเครื่องมือต่างๆ ทั้งนโยบายการเงิน นโยบายอัตราดอกเบี้ย และนโยบายกำกับดูแลสถาบันการเงิน" ผู้ว่าะปท. ระบุ

การที่ กนง.ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งล่าสุด เพราะเห็นพัฒนาการเศรษฐกิจที่ต่างจากเดิมที่เคยประมาณการไว้หลายปัจจัย ประกอบด้วย 1. สภาววะเศรษฐกิจโลกที่บรรยากาศการกีดดันทางการค้าตึงเครียดมากขึ้น โดยผลกระทบได้ส่งผ่านมาถึงราคาพลังงานที่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อผ่อนคลายลงไปมาก และอาจทำให้เงินเฟ้อปีนี้ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย

และ 2.ภาคการส่งออกมีการชะลอตัวลงหลังจากที่การกีดกันทางการค้ารุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการจ้างงาน การบริโภค และการลงทุนในประเทศ

ผู้ว่าธปท.กล่าวถึงคณะกรรมการชุดที่รัฐบาล โดยกระทรวงการคลังมีแนวคิดที่ต้องการจัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลเสถียรภาพการเงินของประเทศว่า ที่ผ่านมาได้มีการหารือกันอย่างต่อเนื่องระหว่าง ธปท. กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งการจัดตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากจะทำให้มาตรการต่างๆ ทั้งในการรับมือการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ ความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจโลก สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจตรงกัน

"เป็นหน่วยงานทางเศรษฐกิจที่ต้องมีการหารือกันประจำ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันให้แน่ใจว่าเราเท่าทัน เพราะมาตรการป้องกันการกีดกันทางการค้าที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทย มันต้องการความร่วมมือที่หลากหลายมิติ ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง เราพูดคุยกันประจำอยู่แล้ว" นายวิรไท กล่าว

สำหรับความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนไหวมากขึ้นจากบรรยากาศการกีดกันทางการค้า ตลอดจนความผันผวนต่างๆ นั้น ผู้ว่าฯ ธปท. มองว่าควรจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการอีกชุดที่มาดูแลเรื่อง Financial Stability โดยเฉพาะ ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยเฉพาะในภาคที่ยังไม่มีผู้กำกับดูแลชัดเจนนั้นจะได้รับการกำกับดูแลไปในทิศทางเดียวกัน และลดความเสี่ยงของระบบสถาบันการเงินในระยะยาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ