ธปท.ลงนามร่วมมือสมาคมธนาคารไทยตีกรอบสถาบันการเงินปล่อยกู้รับผิดชอบต่อสังคม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 13, 2019 12:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในวันนี้จะมีการลงนามถึงแนวทางการปฏิบัติใหม่ในการปล่อยสินเชื่อที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติร่วมกันของสมาคมธนาคารไทย และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่จะร่วมกันกำหนดนโยบายของแต่ละสถาบันการเงิน เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน การเปิดเผยข้อมูล การตรวจสอบต่างๆ เพื่อให้การทำงานของสถาบันการเงินมีบทบาทที่สอดคล้องกับความยั่งยืน และความรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มมากขึ้น

นายวิรไท กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องอาศัยการมองกว้างและมองไกลถึงผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะย้อนกลับมาที่สถาบันการเงินด้วย ซึ่งบางครั้งอาจมองแค่เพียงการปล่อยสินเชื่อแล้วลูกหนี้ไปทำธุรกิจตามกฎหมายหรือไม่นั้นอาจจะไม่เพียงพอ ดังนั้นหากหลายโครงการแม้จะปฏิบัติตามกฎหมาย แต่กลับไปสร้างผลข้างเคียงต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม ก็อาจจะกลับกลายมาเป็นหนี้เสียและเป็นความเสี่ยงด้านสินเชื่อของสถาบันการเงินนั้นๆ ได้ สิ่งที่จึงมีความจำเป็นที่สถาบันการเงินจะต้องให้ความสำคัญเพื่อลดความเสี่ยงในด้านเครดิตของสถาบันการเงินนั้น

ผู้ว่าธปท. กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีสถาบันการเงินจำนวนมากที่ไม่ให้ความสำคัญและไม่ให้ความสนใจกับความเสี่ยงในเรื่องสิ่งแวดล้อมและชุมชน ที่จะกลายมาเป็นความเสี่ยงของสถาบันการเงิน ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุด คือความไว้วางใจและความเชื่อมั่นจากสังคม และประชาชน การที่สถาบันการเงินไม่สามารถปฏิบัติได้ตามความคาดหมายของสังคม จะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ซึ่งจะวนกลับมาเป็นความเสี่ยงด้านความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินด้วย

ทั้งนี้ มองว่าสถาบันการเงินในไทยและในอาเซียนอาจจะตามหลังพัฒนาการด้านความยั่งยืนของสถาบันการเงินในยุโรป และอเมริกา ดังนั้นวันนี้จึงเป็นโอกาสที่จะทำให้ผู้บริหารของสถาบันการเงินได้เรียนรู้ถึงแนวปฏิบัติที่ดี และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน หน้าที่ของสถาบันการเงิน และผลจากการผลักดันธนาคารเพื่อความยั่งยืนนี้ไม่ใช่แค่ให้เกิดการตระหนักรู้หรือความสนใจเท่านั้น แต่เราคาดหวังจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสถาบันการเงินที่จะทำให้ประชาชนสัมผัสได้

ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เห็นพัฒนาการที่หลากหลายมิติของสถาบันการเงินไทยในการให้ความสำคัญกับชุมชน และสังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งที่เห็นได้เป็นรูปธรรมคือ บัญชีเงินฝากพื้นฐาน ที่ให้ผู้สูงอายุ และประชาชนที่มีฐานะยากจนสามารถเปิดบัญชีกับธนาคารโดยไม่มีค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการทางการเงินเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน และพบว่าในช่วง 1 ปีที่ได้เริ่มดำเนินการมา มีสถาบันการเงินหลายแห่งได้ส่งเสริมเรื่องนี้อย่างจริงจังโดยเฉพาะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และมีบัญชีเงินฝากพื้นฐานมากกว่า 1 ล้านบัญชีแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ