(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อก.ย.ขยายตัว 0.32% จากราคาอาหารสดยังขยายตัวสูง แต่ราคาน้ำมันหดตัว ปรับกรอบทั้งปีมาที่ 0.7-1.0%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 1, 2019 13:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ย.อยู่ที่ 102.90 ขยายตัว 0.32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.10% จากเดือน ส.ค.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) ขยายตัวเฉลี่ย 0.81%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (CORE CPI) เดือน ก.ย.อยู่ที่ 102.70 ขยายตัว 0.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.09% จากเดือน ส.ค.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวเฉลี่ย 0.54%

ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 105.02 เพิ่มขึ้น 2.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.12% จากเดือน ส.ค.62 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 101.71 หดตัว -0.90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว 0.08% จากเดือน ส.ค.62

กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าเงินเฟ้อทั้งปีจะอยู่ในกรอบ 0.7-1.0% จากเดิมที่คาดไว้ 0.7-1.3%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ย.62 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.32% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องค่อนข้างมากจากเดือน ก.ค. และ ส.ค.ที่ผ่านมา โดยสินค้าในกลุ่มพลังงานยังหดตัวสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่แม้จะเพิ่มขึ้นจากเหตุการณ์ถล่มโรงกลั่นน้ำมันในตะวันออกกลาง แต่ราคายังต่ำกว่าในปีที่แล้ว รวมทั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้ลดอัตราการนำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลง

สำหรับการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้สอดคล้องกับการหดตัวของดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง โดยมีปัจจัยสำคัญจากการลดลงอย่างต่อเนื่องของหมวดอุตสาหกรรม ในขณะที่หมวดเกษตรกรรมยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง

"เงินเฟ้อในเดือนนี้ยังชะลอตัวต่อเนื่องติดต่อกันตลอดไตรมาส และขยายตัวในอัตราต่ำสุดของไตรมาสที่ 3 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการลดลงต่อเนื่องของราคาพลังงาน ขณะที่ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังขยายตัวสูง" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

พร้อมระบุว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ย.นี้ หากหักราคาน้ำมันออกไปจะอยู่ที่ 1.2% ซึ่งถือว่าอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังกำหนดไว้ที่ 1-4% แล้ว และเข้ากรอบนี้มาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้แย่หรือทรุดตัวไปมากอย่างที่หลายฝ่ายวิตกกังวล แต่อาจยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน

"เงินเฟ้อเดือน ก.ย.นี้ ถ้าหักราคาน้ำมันออกไปจะอยู่ที่ 1.2% ถือว่าเข้าเกณฑ์ที่แบงก์ชาติและกระทรวงการคลังกำหนดไว้ ซึ่งเศรษฐกิจไทยไม่ได้ถึงกับแย่ ราคาสินค้าและบริการยังขยายตัวในระดับที่เหมาะสม เงินเฟ้อที่ 1.2% ถือว่าเป็น Healthy Rate เศรษฐกิจไม่ได้ชะลอหรือทรุดตัวมากอย่างที่กังวล แต่ก็ไม่ได้ดีเลิศ เพราะมีอีกปัจจัยกดดันเศรษฐกิจภายใน และสะท้อนมาที่เงินเฟ้อ คือ ค่าเงิน" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

ทั้งนี้ เห็นว่าเงินบาทที่แข็งค่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกเพียงส่วนเดียว แต่ยังมีผลสะท้อนมาถึงเงินเฟ้อใน 2 ด้าน คือ ราคาน้ำมันในประเทศถูกลง และรายได้เข้าประเทศลดลง อย่างไรก็ดี นโยบายเรื่องค่าเงินบาทนั้น คงจะมุ่งหวังให้เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ฝ่ายเดียวคงไม่ได้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะพยายามหามาตรการสนับสนุนและบรรเทาผลกระทบจากการส่งออก เพื่อไม่ให้ผลกระทบส่งลงไปถึงเศรษฐกิจฐานราก

"กระทรวงพาณิชย์จะหาวิธีบรรเทาผลกระทบจากการส่งออก คงจะให้แบงก์ชาติรับภาระคนเดียวไม่ได้" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า สัญญาณจากเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจอื่นๆ ยังคงชี้ว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงทั้งจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ทำให้ราคาสินค้าและบริการในปี 62 น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบจำกัด โดย สนค.ได้มีการปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปสำหรับปีนี้ใหม่เป็น 0.7-1.0% หรือเฉลี่ยที่ 0.85% ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 2 ปี จากสมมติฐานที่ปรับเปลี่ยนไป คือ 1.อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 2.7-3.2% 2.ราคาน้ำมันดิบดูไบ 60-70 ดอลลาร์/บาร์เรล 3.อัตราแลกเปลี่ยน 30.50-31.50 บาท/ดอลลาร์

โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 4/62 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 0.5-1% ซึ่งในเดือน ต.ค.62 แนวโน้มเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากฐานราคาน้ำมันในเดือน ต.ค.61 ที่สูงถึง 79 ดอลลาร์/บาร์เรล ทำให้ผลของราคาน้ำมันต่อเงินเฟ้อยังมีค่อนข้างสูง แต่ในเดือน พ.ย.และ ธ.ค.61 ราคาน้ำมันเริ่มลดลงแล้ว ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อในช่วง พ.ย.และ ธ.ค.62 เริ่มปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

"เริ่มเข้าไตรมาส 4 เราก็ได้มีการทบทวนตัวเลขเงินเฟ้อใหม่ คาดว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 0.7-1% หรือค่ากลางที่ 0.85% โดยเชื่อว่าทั้งปีคงจะไม่เกิน 0.9%" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว และเห็นว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะเริ่มเข้าสู่กรอบเป้าหมายของ ธปท.ที่ 1-4% ได้ในปี 63

สำหรับปัญหาอุทกภัยและปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของอัตราเงินเฟ้อในปีนี้มากนัก เช่นเดียวกับช่วงเทศกาลกินเจที่ไม่พบว่ามีการปรับขึ้นราคาสินค้าอย่างไม่สมเหตุผล ดังนั้นจึงไม่ได้ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อเท่าใดนัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ