ที่ประชุมรมต.คลังเอเปคหนุนสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนและสมดุลในภูมิภาค หลังแนวโน้มศก.ปีนี้ชะลอตัวเหลือโต 3.2%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 16, 2019 11:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ได้รับมอบหมายจาก รมว.คลัง ให้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM) ครั้งที่ 26 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 14-15 ต.ค.62 ณ กรุงซันติอาโก สาธารณรัฐชิลี ซึ่งมีนาย Felipe Larrain รมว.คลังสาธารณรัฐชิลี เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนระดับสูงจากสมาชิกเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ และผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เข้าร่วมการประชุม

โดยแนวคิดหลักของการประชุมเอเปคประจำปี 2562 คือ เชื่อมโยงประชาชนเพื่อสร้างอนาคต (Connecting People, Building the Future) และมีการหารือที่สำคัญ ดังนี้

1. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและภูมิภาค ทั้ง 4 องค์กรระหว่างประเทศมีความเห็นร่วมกันว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเปคมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจโลก โดยความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคที่เข้มแข็ง ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่อการเติบโตของภูมิภาค ทั้งนี้ ADB คาดว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเปคในปี 2562 จะขยายตัวที่ 3.2% ซึ่งชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 3.7%

ในการนี้ สมาชิกเอเปคจึงจะร่วมมือกันสนับสนุนในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและสมดุลในภูมิภาค รวมทั้งให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการเงิน การคลัง และการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมสร้างศักยภาพในการเติบโตอย่างทั่วถึงและมีส่วนร่วมต่อไป

2. ในการประชุม APEC FMM ครั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือใน 4 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย

2.1 เศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มและการเข้าถึงทางการเงิน (Digital Economy for Financial Integration and Inclusion) ที่ประชุมสนับสนุนการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในภาคการเงิน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการกำกับดูแลและพัฒนากฎระเบียบทางการเงิน รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มทางการเงินอย่างต่อเนื่อง และพัฒนากรอบการกำกับดูแล (Regulatory Framework) ที่เอื้อต่อการแข่งขัน รวมถึงส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการเงิน

ที่ประชุมยังสนับสนุนการเข้าถึงทางการเงินอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะประชาชนฐานรากและประชาชนในเขตพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคและการให้ความรู้ทางการเงินซึ่งจะมีส่วนช่วยในการยกระดับสุขภาพทางการเงินของประชาชนด้วย

2.2 การบริหารการเงินและการประกันภัยเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Disaster Risk Financing and Insurance) ภูมิภาคเอเปคเผชิญกับภัยพิบัติที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการคลัง ดังนั้นการบริหารการเงินและการประกันภัยเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยแบ่งเบาภาระรายจ่ายของรัฐบาล นอกจากนี้ ที่ประชุมสนับสนุนให้มีการประสานงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนากลไกการบริหารการเงินเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยเฉพาะในการถ่ายโอนความเสี่ยง

2.3 การผลักดันความร่วมมือด้านภาษีและความโปร่งใส (Fostering International Tax Cooperation and Transparency) ความแน่นอนทางภาษี (Tax Certainty) และความโปร่งใสทางภาษี (Tax Transperency) เป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการตัดสินใจด้านการลงทุน ซึ่งจะส่งผลต่อการปฏิบัติทางภาษีและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ที่ประชุมจึงสนับสนุนให้สมาชิกเอเปคร่วมมือกันส่งเสริมความแน่นอนทางภาษีและจัดการกับการหลีกเลี่ยงภาษี (Tax Avoidance) และการหนีภาษี (Tax Evasion) ในภูมิภาค

2.4 การเร่งรัดการลงทุนและระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Accelerating Infrastructure Development and Financing) สมาชิกเอเปคเห็นว่าการสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ และการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถสร้างผลตอบแทน (Bankable) จะมีส่วนช่วยในการยกระดับการผลิต ส่งเสริมการเชื่อมโยง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างงาน และเสริมสร้างการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมและทั่วถึง จึงสนับสนุนให้สมาชิกดำเนินการตามแผนแม่บทความเชื่อมโยงในเอเปค ค.ศ. 2015 - 2025 (APEC Connectivity Blueprint 2558 - 2568) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเด็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน

ทั้งนี้ การประชุม APEC FMM ครั้งที่ 27 จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2563 ณ สหพันธรัฐมาเลเซีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ