ก.เกษตรฯ หนุน"พะเยาโมเดล"นำร่องขายข้าวหอมมะลิ 18,000 บาท/ตัน ตั้งเป้าเดือนพ.ย.ไว้กว่า 1.5 แสนตัน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 24, 2019 12:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าวการขับเคลื่อนการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร "พะเยาโมเดล" พร้อมทั้งเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการซื้อขายข้าวหอมมะลิ ราคา 18,000 บาท/ตัน ระหว่างสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในพื้นที่จังหวัดพะเยา กับบริษัทข้าว ซี.พี. จำกัด ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยระบุว่า ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ข้าวหอมมะลิในจังหวัดพะเยาจะเริ่มออกผลผลิตและเริ่มเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายบริหารจัดการข้าวหอมมะลิประมาณ 151,900 ตัน ให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายข้าวหอมมะลิ ณ ความชื้น 15% ได้ในราคาที่ 18,000 บาท/ตัน ซึ่งสูงกว่าราคาประกันข้าวหอมมะลิของรัฐบาลที่ประกาศไว้ในปี พ.ศ.2562 ถึง 3,000 บาท/ตัน

"ในวันนี้ เป็นการทำบันทึกข้อตกลงการซื้อขายข้าวหอมมะลิจังหวัดพะเยา ในราคา 18,000 บาท/ตัน (ความชื้น 15%) จำนวน 40,000 ตัน ระหว่างสหกรณ์การเกษตรเมืองพะเยา จำกัด สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.พะเยา จำกัด กับบริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด โดยรับซื้อข้าวหอมมะลิจังหวัดพะเยา ซึ่งมีคุณภาพในราคาสูง และเกษตรกรสามารถขายข้าวหอมมะลิในราคาที่เหมาะสม โดยภาครัฐไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย เนื่องจากเป็นราคาขายที่สูงกว่าราคาประกันข้าวหอมมะลิ" รมช.ธรรมนัส กล่าว

นอกจากนี้ ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด มีกำหนดจัดงาน "วันเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิโลก" ณ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา และในเร็ว ๆ นี้ จังหวัดพะเยาเตรียมจัดงานเจรจาซื้อขายข้าวหอมมะลิระหว่างคู่ค้าเอกชนรายอื่น ๆ กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดพะเยา ซึ่งการจัดงานดังกล่าวฯ จะนำไปสู่การสนับสนุนการสร้างคุณค่าเพิ่มในสินค้าข้าวหอมมะลิจังหวัดพะเยา และจะขยายผลไปสู่การส่งเสริมให้เป็นสินค้าอัตลักษณ์ (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ : GI) ของจังหวัดพะเยา โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับผู้ประกอบการภาคเอกชน เกษตรกร และสถาบันเกษตรกรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตามแนวนโยบาย "การตลาดนำการผลิต" ของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

สำหรับแนวทางการดำเนินงาน "พะเยาโมเดล" มีเป้าหมายส่งเสริมคุณภาพชีวิต ยกระดับรายได้เกษตรกรไทย และการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและตรงตามความต้องการของตลาด เพื่อนำร่องไปสู่จังหวัดอื่น ๆ และขยายผลไปในสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น ข้าวหอมมะลิ ยางพารา ลำไย ลิ้นจี่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไข่ไก่ เป็นต้น โดยส่งเสริมและพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ระยะต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เน้นการสร้างแบรนด์สินค้าเกษตรและการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์และคุณค่าของสินค้าที่มุ่งเน้นความเป็นสินค้าอัตลักษณ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและนำไปสู่ความยั่งยืนในการผลิตสินค้าเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ