ไทยเตรียมถกสหรัฐฯ นอกรอบเวทีอาเซียนซัมมิท เพื่อเจรจาขอคืนสิทธิ GSP ย้ำยังส่งออกได้ตามปกติ แค่เสียภาษีเพิ่มขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 28, 2019 12:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทยชั่วคราว ซึ่งจะมีผลในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยยืนยันว่าการระงับสิทธิ GSP สินค้าไทย 573 รายการนั้น ไม่ได้หมายความว่าไทยจะไม่สามารถส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังสหรัฐฯได้อีก หรือไม่ได้หมายความว่าไทยจะสูญเสียมูลค่าการได้รับสิทธิ GSP ไปทั้งหมด 40,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ไทยยังสามารถส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติ (MFN Rate) เฉลี่ยที่ประมาณ 4.5% หรือคิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 1,800 ล้านบาท สำหรับสินค้าสำคัญของไทยที่จะถูกระงับสิทธิ GSP ได้แก่ มอเตอร์ไซค์, แว่นสายตา, เครื่องจักรกล อุปกรณ์ไฟฟ้า, พลาสติกและของทำด้วยพลาสติก, อาหารปรุงแต่ง, เคมีภัณฑ์, อุปกรณ์ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า, ทองแดง, ผลิตภัณฑ์เซรามิก และเครื่องประดับ เป็นต้น โดยกลุ่มสินค้าที่ถูกเก็บอัตราภาษีสูงสุด คือ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร และเครื่องครัวเซรามิก ที่ 26% ส่วนสินค้าที่ถูกเรียกเก็บอัตราภาษีต่ำสุด คือ เคมีภัณฑ์ ที่ 0.1% "ขอยืนยันว่า เราไม่ได้สูญเสียมูลค่าการได้รับสิทธิไปทั้งหมด 40,000 ล้านบาท เพราะที่จะกระทบจริงๆ คือราว 1,500-1,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่เราจะต้องชำระภาษีสินค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 4.5% แต่เป็นภาษีที่มากน้อยต่างกันไปในแต่ละสินค้า โดยสินค้าที่ต้องเสียภาษีมากสุด 26% คือกลุ่มภาชนะเซรามิก ส่วนกลุ่มที่เสียต่ำสุด 0.1% คือเคมีภัณฑ์...ขอย้ำว่า การให้สิทธิ GSP นี้เป็นการให้เพียงฝ่ายเดียว วันหนึ่งเขาอาจจะไม่ให้เราก็ได้ สิ่งที่เราเคยได้รับอาจจะต้องหายไป ซึ่งเราก็ต้องมาพัฒนาตัวเองให้สามารถแข่งขันได้" นายกีรติ กล่าว พร้อมระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ จะเร่งดำเนินการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อขอคืนสิทธิ GSP โดยเร็วที่สุด โดยยืนยันว่าจะไม่ใช้วิธีการตอบโต้ทางการค้าแต่อย่างใด ซึ่งในระหว่างนี้ยังมีเวลาอีก 6 เดือนกว่าที่ประกาศของสหรัฐฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ โดยคาดว่าในระหว่างการประชุมอาเซียนซัมมิท ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในเดือนพ.ย.นี้ ไทยจะหาโอกาสเจรจาในเบื้องต้นกับสหรัฐ รวมทั้งการเจรจาภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ ในลำดับต่อไป "เราคงต้องใช้การเจรจา จะไม่มีการตอบโต้ทางการค้า ต้องคุยกันด้วยเหตุด้วยผล เพื่อให้ได้มาซึ่งผลบวกของประเทศ ในช่วงหลังประชุมอาเซียนซัมมิทที่ไทยเป็นเจ้าภาพ อาจจะพอมีเวทีที่จะคุยกันได้เบื้องต้น ทาง DC ก็แจ้งมาแล้วว่าจะให้เราจัดคณะไปคุยกับ USTR ก็ได้ หรือจะให้เขามาคุยที่ไทยก็ได้ เราคงจะขอคุยกันในระดับเจ้าหน้าที่ก่อน เพื่อดูว่ารายละเอียดจะเป็นอย่างไร...กระทรวงพาณิชย์จะพยายามเจรจาทำความเข้าใจให้ดีที่สุด เรื่องนี้มีหลายมิติที่ต้องดู ไม่ใช่เรื่องการค้าอย่างเดียว เพราะมีประเด็นเรื่องแรงงานด้วย" รักษาราชการอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศระบุ นายกีรติ กล่าวว่า กรมการค้าต่างประเทศได้เชิญผู้ประกอบการมาหารืออย่างต่อเนื่อง เพื่อรับทราบสถานการณ์และประเมินผลกระทบ หากถูกเพิกถอนสิทธิ GSP โดยแนะนำให้ผู้ประกอบการหาตลาดใหม่เพื่อทดแทนตลาดเดิม โดยเฉพาะตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น ตะวันออกกลาง, ยุโรปตะวันออก, อเมริกาใต้ และรัสเซีย รวมถึงการใช้ประโยชน์จากประเทศที่ไทยมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ใน 13 กรอบความตกลง เช่น อาเซียน, จีน, ญี่ปุ่น, อินเดีย, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ชิลี และเปรู เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ในการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยยกระดับด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมทั้งแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงสินค้า ทำการวิจัยและพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพสม่ำเสมอทดแทนการแข่งขันด้านราคา เพื่อรองรับสถานการณ์ทางด้านการค้าในตลาดโลกที่เป็นการแข่งขันอย่างเสรี "เรื่องนี้เราทราบมาระยะหนึ่งแล้ว จากที่สหรัฐส่งสัญญาณมาว่าราวๆ ปลายต.ค.หรือต้น พ.ย. จะประกาศผลการพิจารณา ทาง คต.ได้คุยกับภาคเอกชนมานานแล้ว ว่า GSP เป็นการให้ฝ่ายเดียว ดังนั้นภาคเอกชนก็ต้องปรับตัว เมื่อสิทธิที่ได้หายไป ก็จะต้องผลิตสินค้าให้มีคุณภาพมากขึ้น ไม่ใช่อาศัยการแข่งขันด้านราคาเพียงอย่างเดียว" นายกีรติระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ