"โกร่ง"เตือน ศก.ไทย ขยับเข้าสู่ยุคศก.ชะลอตัวจากปัญหาเงินเฟ้อใน 1-2 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 29, 2008 15:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง คาดในอีก 2 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในช่วงขาลง และค่อย ๆ ขยับเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจชะลอตัวแบบมีเงินเฟ้อ (Stagflation) ซึ่งเป็นสิ่งที่จัดการค่อนข้างยาก โดยมีสาเหตุจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงเพราะปัญหาซับไพร์ม จนทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง และกระทบไปถึงเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (EU) ซื้อตราสารหนี้ของสหรัฐฯ ไว้จำนวนมาก 
ประกอบกับ ปัญหาราคาน้ำมันที่ยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปอีกนาน เพราะความต้องการใช้มีมากกว่าปริมาณการผลิต ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตของไทย กระทบภาคขนส่ง และต่อเนื่องไปถึงภาคการท่องเที่ยว
"ขณะนี้มีการส่งออกอย่างเดียวเท่านั้นที่ยังขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย เพราะการลงทุนทั้งภาครัฐ และเอกชนหยุดนิ่งมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว หลังการปฏิรูปการปกครอง ส่วนภาคบริการก็ถดถอยลง โดยเฉพาะรายได้จากการท่องเที่ยวลดลงไปมาก ต้องใช้เวลาเยียวยาอีกนาน ความเชื่อมั่นจึงจะกลับมาเหมือนเดิม" นายวีรพงษ์ กล่าวบรรยายเรื่อง"เศรษฐกิจไทยในอีก 2 ปีข้างหน้า" ในงานสัมมนา "เปิดตลาดใหม่ ขยายการส่งออกปี 2551"
ส่วนเป้าหมายการส่งออกปีนี้ที่นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ต้องการให้ขยายตัวถึง 15% จากเดิมที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ 10-12.5% นั้น นายวีรพงษ์ ระบุว่า ทำได้ยากหากเงินบาทยังคงแข็งค่าเร็วและแข็งค่ามากดังเช่นปัจจุบัน โดยเฉพาะแข็งค่ากว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ของประเทศคู่แข่งทางการค้า
เมื่อเงินบาทยังคงแข็งค่าเช่นนี้ โครงสร้างการส่งออกของไทยคงต้องเปลี่ยนแปลง โดยหันส่งออกสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้ามากขึ้น เพราะได้ประโยชน์จากการนำเข้าในภาวะที่ค่าเงินบาทแข็งค่า อย่างรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศและเป็นจุดแข็งของไทย เช่น อาหาร สินค้าเกษตร และสินค้าที่ใช้แรงงานในประเทศเป็นหลักกลับได้รับผลกระทบหนัก ส่งออกมากยิ่งขาดทุนมากแต่จำเป็นต้องส่งออกเพื่อให้อยู่รอด
นายวีรพงษ์ กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินนโยบายผิดพลาดที่จะมุ่งรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อโดยไม่สนใจถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเลย
"ในอนาคตเศรษฐกิจไทยจะยิ่งแย่ เพราะ ธปท.เห็นว่าเงินเฟ้อสำคัญกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่จีนจะใช้อัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate Targeting) ไม่รู้ว่า ธปท.กลัวอะไร เพราะเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่ได้นำเอาราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และอาหารสดมาคำนวณด้วยก็ต่ำมากอยู่แล้ว ส่วนการแก้ปัญหาค่าเงินบาท ธปท.น่าจะลดดอกเบี้ยลง แต่ ธปท.กลับไม่ได้ทำอะไรเลย ถ้าเป็นอย่างนี้อย่ามีธปท.จะดีกว่า " นายวีรพงษ์ กล่าว
นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า จากการหารือกับทูตพาณิชย์ไทยทั่วโลก พบว่าบางประเทศยังสามารถผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวได้อีกมาก โดยเฉพาะตลาดใหม่ เช่น อินเดีย, รัสเซีย, แอฟริกา, ยุโรปตะวันออก ดังนั้นเป้าหมายการขยายตัวของการส่งออกปีนี้ที่ 15% น่าจะเป็นไปได้ ส่วนค่าเงินบาทแข็งค่านั้นแม้จะเป็นสิ่งที่ทุกคนกังวล แต่ผู้ส่งออกก็สามารถบริหารจัดการและป้องกันความเสี่ยงได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ