รมช.พาณิชย์ หารือทูตตุรกี ร่วมเดินหน้าผลักดันเจรจา FTA - เพิ่มมูลค่าการค้าสู่เป้าหมาย 2 พันล้านดอลล์ในปี 63

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 17, 2019 12:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยผลการหารือกับ นางเอฟเรน ดาเดเลน อักกุน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทยว่า ไทยและตุรกีพร้อมที่จะสานต่อและกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจเพื่อให้มูลค่าการค้าสองฝ่ายบรรลุเป้าหมาย 2,000 ล้านดอลลาร์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และจะร่วมกันผลักดันให้การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ตุรกีให้เสร็จภายในปี 2563

ที่ผ่านมาได้มีการเจรจากันมาแล้ว 6 รอบ รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงและการหารือทวิภาคีอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้เดินทางเยือนตุรกี เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างสองประเทศ และมีการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรต่างๆ อาทิ ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง จำนวน 12 ฉบับ ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าการค้ากว่า 500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำโอกาสในการขยายธุรกิจ โดยใช้ที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ที่เป็นจุดเด่นของทั้งสองประเทศในการเป็นประตูการค้าระหว่างกัน

รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า สองฝ่ายยังตกลงที่จะร่วมกันดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการค้าต่างๆ อาทิ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า การจัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ รวมทั้งแสวงหาโอกาสในการลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งจะนำมาสู่การขยายมูลค่าการค้าอย่างยั่งยืนในระยะยาว ในโอกาสนี้ได้เชิญฝ่ายตุรกีเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พร้อมทั้งเชิญนักธุรกิจตุรกีเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของไทย เช่น งาน Bangkok Gems & Jewelry Fair 2020 และงาน THAIFEX เป็นต้น ขณะที่ฝ่ายตุรกีแสดงความสนใจที่จะร่วมมือกับฝ่ายไทยในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ เพื่อกระตุ้นการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน

ปัจจุบัน ตุรกีเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 ของไทยในกลุ่มภูมิภาคตะวันออกกลาง การค้าระหว่างไทยกับตุรกีในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (2557-2561) มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 1,378 ล้านดอลลาร์ และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาโดยตลอด ในปี 2561 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 1,427 ล้านดอลลาร์ สินค้าที่ไทยมีศักยภาพในตุรกี ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เส้นใยประดิษฐ์ ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง สำหรับสาขาที่ไทยมีศักยภาพเข้าไปลงทุน ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม สปา ธุรกิจเกี่ยวกับการจัดประชุมและนิทรรศการ อุตสาหกรรมประมงและเกษตรแปรรูป รวมทั้งการผลิตอาหารฮาลาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ