ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดส่งออกไทยปีนี้ -2.5% ศก.โลก-บาทแข็งกดดัน ชี้ปี 63 ยังหดตัวต่อเนื่องที่ -1%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 23, 2019 17:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยตลอดทั้งปี 2562 น่าจะหดตัวที่ประมาณ 2.5% หรือมากกว่าเล็กน้อย โดยการส่งออกสินค้าในเดือนสุดท้ายของปี 2562 (ธ.ค.) คาดว่าจะหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและเงินบาทที่แข็งค่า แม้ประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะมีสัญญาณในเชิงบวกมากขึ้น หลังทั้งสองประเทศบรรลุข้อตกลงทางการค้าเฟสแรกร่วมกันในวันที่ 14 ธ.ค. 2562 (คาดว่าจะลงนามร่วมกันในช่วงต้นเดือนม.ค. 2563) ซึ่งมีผลให้สหรัฐฯ และจีนระงับการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันรอบวันที่ 15 ธ.ค. 2562

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสหรัฐฯ และจีนเพิ่งบรรลุข้อตกลงทางการค้าร่วมกันเพียงเฟสแรก จึงทำให้ประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศยังไม่น่าจะยุติในระยะเวลาอันใกล้ ทำให้ไม่เปลี่ยนภาพการส่งออกสินค้าไทยในปีหน้ามากนัก

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกสินค้าไทยในปี 2563 จะยังหดตัวต่อเนื่องที่ -1.0% (กรอบประมาณการที่ -2.0 ถึง 1.0%) โดยให้น้ำหนักกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก และทิศทางเงินบาทที่อาจจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบที่แข็งค่า ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาของผู้ส่งออกไทย

อย่างไรก็ดี สำหรับการส่งออกสินค้าของไทยในเดือนพ.ย. 2562 มีมูลค่าอยู่ที่ 19,657 ล้านดอลลาร์ฯ อยู่ในระดับต่ำกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ฯ เป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ -7.4% ซึ่งนับเป็นการหดตัวมากที่สุดในรอบ 43 เดือน (ตั้งแต่เดือนเม.ย. 2559 เป็นต้นมา) ทำให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยในช่วง 11 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ย.) ของปี 2562 หดตัวมากขึ้นมาอยู่ที่ -2.8%

โดยการส่งออกสินค้าไทยในเดือนพ.ย. 2562 หดตัวในเกือบทุกตลาดหลัก ซึ่งย้ำภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักเกือบทุกประเทศ ยกเว้นการส่งออกสินค้าไปตลาดจีน ที่พลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 2.3% ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวดีเกินคาดของภาคการผลิตจีน

โดยในเดือนพ.ย. 2562 ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของจีนเติบโตสูงถึง 6.2% ทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากไทยเพิ่มขึ้น เช่น เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รวมถึงทองแดง เป็นต้น ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ และไม่ได้เปลี่ยนแปลงภาพการชะลอตัวของการส่งออกอย่างมีนัยสำคัญในระยะข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ