กกพ.รับมือดิสรัปชั่นภาคพลังงาน ดันใช้ Blockchain หนุนบริหารจัดการโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 24, 2019 09:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสิทธิ์ สิริทิพย์รัศมี ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยในงานเสวนา "Blockchain กับอนาคตพลังงานไทย"ว่า กกพ.เชื่อว่าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนน่าจะเป็นหนึ่งในโครงการที่สามารถนำระบบการซื้อขายไฟฟ้าที่มีระบบ Blockchain เข้ามามีส่วนร่วม เนื่องจากผู้ซื้อไฟฟ้าอยู่ในโซนพื้นที่ห่างไกล แต่การที่ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้น้อย ยังเป็นประเด็นหนึ่งที่จะต้องพิจารณาถึงอุปสรรคด้านความสามารถของการรับซื้อไฟฟ้า ซึ่งแผนดังกล่าวอาจจะนำเข้าไปในการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2561-2580 (พีดีพี -2018 rev 1) โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนไม่เกินกลางปี 63

กลไกที่ กกพ.อยู่ระหว่างดำเนินการ คือ โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการบริหารพลังงาน หรือ ERC Sandbox โดยเปิดให้ผู้ประกอบการเข้ามายื่นใบสมัครเข้าร่วมโครงการ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นโครงสร้างตลาดซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Peer to peer Energy Trading หรือระบบการซื้อขายไฟฟ้ากันเองระหว่างประชาชนกับประชาชน หรือระหว่างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนกับชุมชนโดยรอบ ซึ่งช่วยลดความสูญเสียไฟฟ้าในระบบสายส่ง โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain มาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการซื้อขาย

สำหรับโครงการ ERC Sandbox ที่ กกพ. ดำเนินงานก็เพื่อเตรียมให้ทุกฝ่ายได้ปรับตัวรับยุคเทคโนโลยี ซึ่งขณะนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งสิ้น 134 โครงการ จาก 183 โครงการที่สมัครเข้ามา ซึ่งเห็นได้ว่าคนที่ทำธุรกิจก็ได้ให้ความสนใจ โดย กกพ.อนุมัติให้ดำเนินทดสอบไปแล้ว 8 โครงการที่เป็น Peer to peer Energy Trading ซึ่งจะเป็นโครงการนำร่อง ซึ่งทั้ง 8 โครงการจะใช้เวลาทดสอบระบบประมาณ 3 ปี หากประสบผลสำเร็จก็จะขยายไปใช้ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

ดังนั้น ในภาพรวมการไฟฟ้าทั้งฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะต้องปรับตัว เพราะการควบคุมจะยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นการเปิดเสรีซื้อขายไฟฟ้าจะทำให้แรงดันไฟฟ้าในพื้นที่มีปัญหาความสม่ำเสมอ จะต้องพยากรณ์ปริมาณการใช้ไฟฟ้าให้ชัดเจนว่าช่วงไหน พื้นที่ใด มีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เข้าระบบมากน้อยแค่ไหน เพื่อผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักเป็นระบบสำรองให้เพียงพอ โดยในอนาคตสัดส่วนให้บริการของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งจะเปลี่ยนไปหลังจากมีการผลิตไฟฟ้าใช้เองในพื้นที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นความท้าทายในการวางแผนการผลิตเพื่อให้ถึงจุดคุ้มทุนในการลงทุนแต่ละโครงการ ซึ่งคาดว่าภายใน 10 ปี จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า แนวโน้มภาคพลังงานในอนาคตน่าจะเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่จะถูกดิสรัปชั่น โดยเฉพาะไฟฟ้า เห็นได้จากปัจจุบันต้นทุนของโซลาร์เซลล์ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว จนมาใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิล ซึ่งหากในอนาคตมีการนำอุปกรณ์เก็บกักพลังงาน (Energy Storage) หรือแบตเตอรี่ มาใช้ก็จะสามารถนำกำลังผลิตไฟฟ้ามาเก็บไว้ใช้ในช่วงที่ไม่มีแสงอาทิตย์ได้ ก็จะช่วยขจัดอุปสรรคและทำให้ระบบมีความเสถียรมากขึ้น

"ในปัจจุบันโซลาร์เซลล์ยังไม่สามารถทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ เพราะยังต้องพึ่งพาดินฟ้าอากาศ ทำให้ต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลเพื่อให้ระบบไฟฟ้ามีความเสถียร จนกว่าจะมี Energy Storage เข้ามาช่วยเสริมเก็บกักไฟฟ้าในช่วงกลางวันเพื่อจ่ายไฟฟ้าในช่วงที่ไม่มีแสงแดดได้จะก่อให้เกดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันก็เริ่มมีการแค่เพียงการมีโซลาร์เซลล์ก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงแล้ว โดยในอนาคตหากแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่มีราคาถูกลงทุกคนเข้าถึงได้ ก็จะใช้ไฟฟ้าลดลง และลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากส่วนกลาง"

อย่างไรก็ตาม เมื่อภาคเอกชนและประชาชนหันมาใช้โซลาร์เซลล์มากขึ้นจะทำให้ลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากระบบหลักลง โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางวัน ทำให้การเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากเดิม 80-90% ก็จะต้องลดกำลังการผลิตลง ถือเป็นความท้าทายที่ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคกำกับที่จะต้องหาวิธีกำกับดูแล ซึ่งการกำกับดูแลของ กกพ. ยังคงมุ่งสู่จุดหมายใน 3 เรื่อง คือ ความมั่นคงทางด้านพลังงาน, สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ รวมถึงกระตุ้นให้กับหน่วยงานต่างๆ เข้ามารับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

"ในขณะนี้โครงการโซลาร์ภาคประชาชนได้กำหนดเป้าหมายไว้ 100 เมกะวัตต์ แต่มีผู้ยื่นขอติดตั้งเพียง 11 ราย เพราะจุดคุ้มทุนจะต้องมีกำลังการผลิตรายละ 200 กิโลวัตต์ ดังนั้นจึงมีประชาชนเข้ามาร่วมโครงการน้อย ดังนั้นจึงมองว่าการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างโซลาร์เซลล์ระหว่างบ้านของประชาชนแต่ละหลังในช่วง 2-3 ปียังคงเกิด แต่หลังจาก 3 ปีขึ้นไปยังคาดการณ์ได้ยาก เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว"

อย่างไรก็ตาม จุดสุดท้ายเมื่อมีการแข่งขันระหว่าง กฟผ. และโซลาร์เซลล์ที่เกิดในพื้นที่ต่างๆ ที่มีต้นทุนลดลงเรื่อยๆ ประชาชนจะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดค่าไฟฟ้าโดยรวมจะลดลง ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของรัฐบาล โดยกฟผ. จะต้องปรับบทบาทจากการเป็นผู้ผลิต มาเป็นผู้กำกับดูแลเรื่องความมั่นคงทางไฟฟ้า

"บทบาทของ กกพ. กำลังเดินหน้ามุ่งสู่จุดหมายใน 3 ด้านคือความมั่นคงทางด้านพลังงาน, สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ กระตุ้นให้หน่วยงานต่างๆเข้ามารับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต"นายประสิทธิ์ กล่าว

นายพีรพัฒน์ หาญคงแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Blockchain Review กล่าวว่า ประโยชน์ของเทคโนโลยี Blockchain คือ ทำให้ข้อมูลเชื่อถือได้ โดยใช้กระบวนการและขั้นตอนที่น้อยลง ซึ่งในด้านพลังงาน ถือว่ามีจุดอ่อนอยู่ 2 ด้าน คือ ระบบ Infrastructure และการทำ Energy Trading เนื่องจากอุปกรณ์จะเชื่อมไปยังตัวกลางทั้งหมด ทำให้เสี่ยงต่อการโดนจารกรรมข้อมูล ส่งผลต่อเรื่องของความปลอดภัย อีกทั้งในภาคของการกำกับดูแลก็น่าจะใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะมีการร่างกฎระเบียบให้รองรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน และกว่าจะเกิดการใช้งานได้จริงในระดับที่ประชาชนซื้อขายไฟฟ้าให้กันได้ ก็น่าจะอีกนาน

"แม้ว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมพลังงานจะมีโอกาสโดนดิสรัปชั่นแค่ 3% เท่านั้น ถ้าเทียบกับอันดับหนึ่งคืออุตสาหกรรมแบงก์และไฟแนนซ์สูงถึง 30% อันดับสองคือรัฐบาล 13% และอันดับสามคืออุตสาหกรรมประกัน 12% ซึ่งมองว่าหน่วยงานกำกับดูแลด้านนี้ น่าจะใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะร่างกฎระเบียบออกมารองรับ แต่ถ้าในอนาคตเทคโนโลยีด้านพลังงานพัฒนาไปอีกขั้น มีโอกาสสูงมากที่อุตสาหกรรมพลังงานจะโดนดิสรัปชั่นอย่างรวดเร็ว"นายพีรพัฒน์ กล่าว

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์กรมหาชน) กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนกำลังเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายเนื่องจากเทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็ว ดังนั้น กกพ.ต้องกำหนดหลักเกณฑ์และกฏกติกาให้มีความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์เท่าเทียมกันกับทุกฝ่ายทั้งในส่วนของหน่วยงานภาครัฐบาลและเอกชน โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนด้านการผลิตพลังงานในแต่ละโครงการของหน่วยงาน กฟผ., การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่ได้ดำเนินการลงทุนไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้

"ผมยกตัวอย่างถ้าหน่วยงานรัฐลงทุนไปแล้ว 100 แต่ถ้าเกิดความต้องการใช้เหลือแค่ 80 สุดท้ายก็ต้องกระทบกับต้นทุนของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งตรงนี้ต้องพิจารณาโครงสร้างพลังงานให้รอบด้าน เพื่อสร้างความเป็นธรรม"นายวีระพล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ