พาณิชย์ ท้าผู้ผลิตยา EU ฟ้อง WTO กล่าวหาไทยทำ CL ไม่โปร่งใส

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 5, 2008 17:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

           กระทรวงพาณิชย์ไม่หวั่นถูกบริษัทผู้ผลิตยาของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป(EU)ยื่นฟ้ององค์การการค้าโลก(WTO)โดยอ้างว่าไทยประกาศบังคับใช้สิทธิ์ผลิตหรือนำเข้ายาที่มีสิทธิบัตร(CL) หลายชนิดอย่างไม่โปร่งใส
"หากจะฟ้องร้องจริงก็สามารถทำได้ ซึ่งหากมองในแง่ดีจะได้ทำให้โลกได้รับรู้ว่า ไทยสามารถประกาศซีแอลได้ตามข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญา(TRIPs) และดำเนินการอย่างโปร่งใสเพราะได้หารือกับผู้ผลิตยาแล้ว" แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
ด้าน นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 ก.พ.ที่ผ่านมา กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ยื่นหนังสือต่อสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ(USTR) เพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณาทบทวนสถานะประเทศคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตามกฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 พิเศษ โดยชี้แจงตอบโต้กรณีที่ภาคเอกชนของสหรัฐกล่าวหาว่าไทยไม่ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงชี้แจงสิ่งที่ไทยได้ดำเนินการในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เพื่อป้องกันและปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์
อย่างไรก็ตาม ทาง USTR ได้ประกาศแล้วว่าจะไม่ฟ้องร้องไทยต่อ WTO ในกรณีดังกล่าว
สำหรับหนังสือชี้แจงดังกล่าว กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ยืนยันว่าไทยได้คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเต็มที่ และมีผลงานในด้านการปราบปราบ การบังคับใช้กฎหมายเป็นอย่างดี โดยในปี 50 มีการจับกุมได้ 7,118 คดี ของกลาง 3.7 ล้านชิ้น แก้ไขปัญหาการละเมิดเคเบิ้ลทีวี และลิขสิทธิ์หนังสือ ส่วนการออกกฎหมายใหม่ก็มีความคืบหน้า ทั้งกฎหมายสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า อีกทั้งในเร็วๆ นี้จะร่วมกับพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ และบริษัท ไมโครซอฟต์ ขายซอฟต์แวร์ราคาถูก เพื่อกระตุ้นให้คนใช้สินค้าที่มีลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง
"ที่ผ่านมา เราดำเนินการต่างๆ มากมาย เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการละเมิด ก็ได้แต่หวังว่า การประกาศผลสถานะประเทศคู่ค้าในเดือนเมษายนนี้ ไทยจะได้รับการเลื่อนสถานะขึ้นมาอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามอง(WL) จากปัจจุบันที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ(PWL) ไม่ใช่ให้ไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาขั้นรุนแรง(PFC) อย่างที่หลายฝ่ายกลัวกัน" นางพวงรัตน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ