BAY คาดกรอบบาทสัปดาห์นี้ 31.00-31.35 หลังสภาพัฒน์หั่น GDP ปีนี้, ตลาดจับตาผลกระทบไวรัสโควิด-19

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 17, 2020 14:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ให้มุมมองทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.00-31.35 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 31.16 บาท/ดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้น 3 พันล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรสุทธิ 2 พันล้านบาท ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย ยังคงทำสถิติแตะระดับต่ำสุดครั้งใหม่

ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ ด้วยแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ สะท้อนทิศทางที่สดใส และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ขยับสูงขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินเยนซึ่งเป็นแหล่งพักเงินที่ปลอดภัยเป็นไปอย่างจำกัด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19)

พร้อมมองว่า ตลาดจะติดตามสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 รวมถึงการเปิดเผยบันทึกการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องของเงินยูโรอยู่ในความสนใจของนักลงทุนเช่นกัน หลังจากเงินยูโรแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 ปีครึ่ง หลังข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซนบ่งชี้แนวโน้มอ่อนแอต่อเนื่อง โดยในระยะนี้ เงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวตามค่าเงินหยวนและเงินยูโรเป็นหลัก

สำหรับปัจจัยในประเทศ สภาพัฒน์รายงานตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2562 เติบโตเพียง 1.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ และเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี โดยสภาพัฒน์ปรับลดประมาณการสำหรับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2563 เป็น 1.5-2.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.7-3.7%

ส่วนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประเมินผลกระทบจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2563 หายไป 5 ล้านคน และสูญเสียรายได้ 2.5 แสนล้านบาท ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่าหากผลกระทบสูงถึงระดับดังกล่าวจะคิดเป็น 1.5% ของ GDP และเมื่อรวมปัจจัยภัยแล้งและงบประมาณที่ล่าช้า จะทำให้เศรษฐกิจปีนี้มีโอกาสโตต่ำกว่า 2% โดยไตรมาสแรกปีนี้อาจขยายตัวไม่ถึง 1% ซึ่งน่าจะเป็นไตรมาสที่จีดีพีโตต่ำสุดของปีนี้

ขณะที่การส่งออกปีนี้ อาจติดลบจากเดิมที่ ธปท.คาดว่าจะฟื้นตัวได้ 0.5% โดยการส่งออกไปจีนสะดุดลงตามห่วงโซ่การผลิต อนึ่ง ธปท.ระบุว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญจะต้องมาจากงบประมาณ นอกจากนี้ ธปท.กล่าวถึงทิศทางของค่าเงินบาทว่า อ่อนค่าลงค่อนข้างเร็วจากการระบาดของไวรัส แต่ยังไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ และเงินบาทที่อ่อนค่าลงไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจมากนัก

"ท่าทีเช่นนี้ สะท้อนว่าแรงขับเคลื่อนเกือบทุกตัวของเศรษฐกิจไทยหยุดชะงักลง ซึ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นอย่างมีนัยสำคัญ และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกสู่ระดับ 0.75% เพื่อส่งสัญญาณว่าทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน" บทวิเคราะห์ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ