"ศุภวุฒิ" ระบุเสถียรภาพการเมืองเป็นปัจจัยเสี่ยงศก.ไทย-จับตาคดี"ยงยุทธ"

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday March 8, 2008 19:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ภัทร กล่าวว่าปัจจัยการเมือง เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งต้องยอมรับว่า มีคลื่นใต้น้ำ ต้องการล้มรัฐบาล หากรัฐบาลไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้สำเร็จภายใน 6 เดือน และคะแนนนิยมจากประชาชนลดลง รัฐบาลอาจจะอยู่ไม่ถึง 1 ปี หากรัฐบาลทำสำเร็จ คาดว่ารัฐบาลจะอยู่ได้ 2 ปี  คงจะมีการยุบสภาฯ และจัดการเลือกตั้งใหม่
"คาดว่ารัฐบาลคงอยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี โดยหากคะแนนนิยมยิ่งลดลง และกระตุ้นเศรษฐกิจไม่สำเร็จ ยิ่งทำให้อายุรัฐบาลสั้นลง เพราะสิ่งนี้เป็นความหวังของประชาชน จึงเชื่อว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท รวมกับมาตรการ ตามมติ ครม.วันที่ 4 มี.ค. กว่า 40,000 ล้านบาท รวมเป็น 80,000 ล้านบาท เท่ากับ ร้อยละ 1 ของจีดีพี" นายศุภวุฒิ กล่าวในสัมมนางาน "ส่องกล้องเศรษฐกิจกับการบริหารความเสี่ยง"
นายศุภวุฒิ กล่าวว่าความเสี่ยงทางการเมืองที่ต้องติดตาม 3 เรื่องหลัก ได้แก่ คำตัดสินในคดีทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.ระบบสัดส่วน พรรคพลังประชาชน(พปช.) หากศาลฎีกาตัดสินว่า นายยงยุทธ มีความผิด ก็จะนำมาสู่การยุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งก็จะเกิดความวุ่นวายทางการเมือง
รวมทั้ง การเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งกลับประเทศไทยเพื่อสู้คดีที่ดินรัชดาภิเษก และคดีการปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบมจ. เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น (SC) รวมทั้งการเคลื่อนไหวเพื่อนำเงินที่ถูกอายัด กลับคืนมา ซึ่งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คงจะมีการเคลื่อนไหวต่อต้าน
และการโยกย้ายนายทหาร ในช่วงเดือนเมษายน และ ตุลาคม นี้ ซึ่งจะมีนายทหารระดับสูง 4 คนที่จะเกษียณอายุราชการ และต้องติดตามการโยกย้ายว่า จะมีการย้ายนายทหารที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่มาจากภาคเศรษฐกิจ คือปัญหาเงินเฟ้อ เนื่องจากราคาต้นทุนพลังงานที่ปรับขึ้น หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ก็จะช่วยชะลอการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อได้ แต่เชื่อว่า ธปท. คงจะไม่ยอมให้เงินบาทแข็งค่า ดังนั้น เงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะสูงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้
สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศ มีโอกาสปรับลดลงอีก เพราะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะต้องลดดอกเบี้ยอีกหลายครั้งเพื่อแก้ปัญหาการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐ ที่คาดว่าปีนี้จะขยายตัวเพียงร้อยละ 0.9 และ ปี 2552 ขยายตัวเหลือร้อยละ 0.6 ทำให้สิ้นปีนี้ดอกเบี้ยสหรัฐจะอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 2 และธปท. คงจะไม่สามารถฝืนกระแสดอกเบี้ยสหรัฐ ได้ คงต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.75 ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 2.50

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ