อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ ตีโจทย์นโยบายการเงิน-คลังรับมือมรสุม"โควิด-19"เศรษฐกิจไทยเสี่ยงเพิ่มแต่ไม่แย่ขั้น"ถดถอย"

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 24, 2020 09:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกขณะนี้กำลังเผชิญกับปัจจัยไม่แน่นอนที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญหลายด้าน โดยเฉพาะล่าสุดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจประเทศจีนที่มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลก เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจของจีนคิดเป็นประมาณ 16% ของ GDP โลก ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นเชื่อมโยงมายังหลายภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากจีนเป็นแหล่งของซัพพลายเชนหรือห่วงโซ่อุปทานจำนวนมากของหลายอุตสาหกรรมหลักของโลก ขณะที่ประชากรชาวจีนเป็นผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวสร้างรายได้หลักให้กับหลายประเทศเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัว แต่เชื่อว่ารัฐบาลของประเทศต่างๆ ยังสามารถใช้เครื่องมือนโยบายการเงินและการคลังในลักษณะผ่อนคลาย ช่วยประคับประคองภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วงนี้

"นโยบายการคลังของรัฐบาลหลายประเทศยังมีพื้นที่เหลือพอช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายการเงินมองว่าที่ผ่านมาก็ผ่อนคลายไปมากพอสมควร แต่ก็เชื่อว่าจะผ่อนคลายต่อไป เป็นสิ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจโลกเวลานี้แม้ว่าจะเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงไม่แน่นอน แต่ก็ยังมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลหลายประเทศประคับประคองไว้"นายประสาร กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"

*จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย GDP ปีนี้เสี่ยงต่ำกว่า 2%

นายประสาร กล่าวว่า ในช่วงนี้มีหลายปัจจัยลบถาโถมเข้ามากระทบเศรษฐกิจไทยหลายเรื่อง ปัจจัยแรกคือผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจเปิด ทำให้ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกมากพอสมควร โดยเฉพาะหลายอุตสาหกรรมของไทยต้องพึ่งพาซัพพลายเชนของจีนจำนวนมาก และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่พึ่งพานักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันก็ลดลงไปอย่างมาก คงต้องมาติดตามต่อไปว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะยืดเยื้อไปนานแค่ไหน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ แม้ว่าปัจจัยการใช้จ่ายเงินงบประมาณปี 63 ที่มีความล่าช้าจะเริ่มผ่อนคลาย คาดว่าอีกไม่นานน่าจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามปกติ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ ปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากปริมาณน้ำในพื้นที่กักเก็บน้ำหลายแห่งของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบหลายปี หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผลกระทบกับภาคเกษตรกรรม ทำให้รายได้เกษตรกรลดลง

และอีกหนึ่งปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ต้องเข้ามาดูแล คือ ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน แม้ว่านโยบายการเงินอยู่ในทิศทางผ่อนคลาย แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยน่าจะทรงตัวในระดับต่ำต่อไปอาจช่วยผ่อนคลายสภาพคล่องระดับครัวเรือนได้บ้าง แต่ก็ยังจำเป็นต้องให้ความสำคัญและติดตามอย่างใกล้ชิด

"อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต้องยอมรับว่าผลกระทบจากปัจจัยลบต่างๆที่เกิดขึ้น ทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจอยู่ในทิศทางชะลอตัว แม้ว่าจะไม่ได้เติบโตได้ดีเหมือนในอดีต แต่ถ้าวิเคราะห์เสถียรภาพทางเศรษฐกิจเชิงความมั่นคง ปัจจุบันก็ยังไม่เห็นสัญญาณที่จะนำไปสู่เหตุการณ์ร้ายแรง แต่สิ่งที่ต้องระวังคือบางภาคเศรษฐกิจโดนผลกระทบมาก คือกลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มเกษตรกรรม กลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กที่สายป่านไม่ได้ยาวนัก"นายประสาร กล่าว

นายประสาร กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค.-ก.พ.จะเห็นผลกระทบปัจจัยลบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทบภาคเศรษฐกิจสำคัญของไทย ได้แก่ การท่องเที่ยว และการส่งออก ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า GDP ปีนี้อาจจะต่ำกว่าที่เคยประมาณการเมื่อปลายปีที่แล้วที่คาดการณ์ GDP เติบโตประมาณ 2% แต่ต้องขึ้นอยู่กับสมมติฐานว่าปัจจัยการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายได้เร็วหรือไม่

หากสถานการณ์คลี่คลายภายในครึ่งปีแรก เชื่อว่าครึ่งปีหลังเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ดี เหมือนครั้งที่เกิดโรคซาร์ส ในช่วงนั้นเศรษฐกิจโลกโดนกระทบหายไปถึง 1% เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายเศรษฐกิจโลกก็กระเด้งกลับขึ้นมา 1% เช่นกันเป็นลักษณะรูป V-Shape

"ช่วงนี้การทำนายในอนาคตยากคาดเดา เพราะมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก ที่สำคัญคือต้องมีสติ อย่าไปตกใจมากเกินไป ในเชิงเสถียรภาพคิดว่าก็ไปได้" นายประสาร กล่าว

*โจทย์ท้าทายนโยบายการคลังต้องกระตุ้นให้เข้าเป้า

นายประสาร ระบุว่า แนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังนั้น มองว่ายังมีพื้นที่นำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ เช่น กรณีหนี้สาธารณะในปัจจุบันอยู่ระดับ 41% เมื่อเทียบกับมูลค่าเศรษฐกิจของไทย มองว่ายังไม่ได้สูงเกินไป แต่ต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะในอนาคตมีโอกาสรายจ่ายจะเพิ่มขึ้นมากกว่ารายได้ที่จัดเก็บได้ในแต่ละปี

"ปัจจุบันหนี้สาธารณะ 41% ของมูลค่า GDP ในกรณีถ้า GDP เติบโตรัฐบาลก็สามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อมาชำระหนี้ได้ แต่อยากให้มองแบบ Dynamic เพราะโดยปกติในอนาคตรายจ่ายรัฐบาลมักจะสูงกว่าการเพิ่มของรายได้ และมีรายจ่ายพิเศษที่มีนัยสำคัญเพิ่มขึ้น เช่น ระบบการดูแลสุขภาพของประชาชน ดังนั้นความท้าทายคือการใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังอย่างไรให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุดและปฏิกิริลูกโซ่มากที่สุดกับระบบเศรษฐกิจของไทย นั้นคือโจทย์การใช้นโยบายการคลังที่ต้องเผชิญในช่วงนี้"ดร.ประสาร กล่าว

*ห่วงแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยอีกอาจกระทบผู้ออม

นายประสาร ย้ำว่า สำหรับนโยบายการเงินปัจจุบันอยู่ในลักษณะผ่อนคลาย โดยเฉพาะการเพิ่มสภาพคล่องในระบบ และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทรงตัวในระดับต่ำ แม้จะมองว่าอัตราดอกเบี้ยในไทยต่ำพอสมควรแล้วที่ 1% หากเทียบกับในประวัติศาสตร์อยู่ในระดับต่ำมาก แต่ยังมีโอกาสอาจจะลดลงอีกได้บ้าง เพราะระยะหลังมานี้ก็เห็นหลายประเทศใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่านั้น เชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงนำข้อมูลหลายๆด้านมาพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียเป็นอย่างไร

"ปัจจุบันนโยบายการเงินก็อยู่ในลักษณะที่เอื้อเศรษฐกิจ ช่วยลดภาระการชำระหนี้ของประชาชน สภาพคล่องในระบบการเงินก็ดีพอสมควร แต่ปัญหาคือการขาดรายได้ของบางกลุ่มเศรษฐกิจ กรณีถ้าลดอัตราดอกเบี้ยไปอีกก็เหมือนเหรียญ 2 ด้านมีข้อดีและข้อเสีย ในมุมบวกคือช่วยให้ลดภาระหนี้ให้กับประชาชน แต่อีกด้านคือกลุ่มคนออมเงิน ได้รับผลตอบแทนต่ำลง ก็จะทำให้เกิดการโยกย้ายเงินเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบเสถียรภาพทางการเงินได้ เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยก็พยายามช่างน้ำหนักประเด็นเหล่านี้"

"จริงอยู่ที่เราจะบอกว่าประเทศไทยออมเงินมากกว่าใช้จ่าย ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศเกินดุล แต่อย่าลืมว่าเป็นภาพใหญ่ คนที่มีเงินออมน้อยก็ยังต้องพึ่งพาดอกผลจากเงินออมเพื่อใช้จ่ายเป็นจำนวนไม่น้อย"นายประสาร กล่าว

*"สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์"เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยไม่ถึงขั้น "ถดถอย"

ด้าน รศ.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากกรณีเศรษฐกิจถดถอยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ต้องติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส เนื่องจากแม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจช่วงต้นปี 63 เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 กระทบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวลดลงกว่า 85% ในเดือน ก.พ. และคาดว่าต่อเนื่องไปถึงเดือน มี.ค.นับว่ามีผลกระทบอัตราการขยายตัวของ GDP อย่างมาก เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีผลกับ GDP ของประเทศถึง 60%

ขณะเดียวกัน งบประมาณประจำปี 63 ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า GDP ในไตรมาส1/63 อาจเติบโตต่ำ หรือกรณีเลวร้ายมากคือถึงขั้นติดลบ แต่ในไตรมาส 2/63 มองว่า GDP มีโอกาสเติบโตเป็นบวก เพราะเชื่อว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น และมีปัจจัยบวกจากกรณีรัฐบาลสามารถปลดล็อกการเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามปกติ

ส่วนประเทศจีนหลังจากได้รับผลกระทบไปค่อนข้างมาก คาดจะเริ่มเห็นการออกมาตรการและอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจรอบใหม่ เพื่อพยุงไม่ให้ภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่เกินไป ดังนั้นมีความเป็นไปได้สูงว่า GDP ไทยตลอดทั้งปี 63 ยังคงเติบโตเป็นบวกได้กว่า 1% หรือถ้าโชคดีก็เติบโตได้ถึง 2%

https://youtu.be/1s8ePh2ypK4


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ