กกร. เรียกร้องภาครัฐดูแลโรงงาน-การขนส่งสินค้า ป้องกันอุตสาหกรรมจำเป็นหยุดชะงัก-ยื่นข้อเสนอช่วยภาคธุรกิจเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 26, 2020 14:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) เปิดเผยว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และ ส.อ.ท. ได้ประชุมเพื่อหารือถึงแนวทางการดำเนินการ โดยภาคเอกชนขอให้ภาครัฐดูแลโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นยิ่งยวด Critical Industry and Supply Chain (CISC) และการขนส่งสินค้า (Logistics) เพื่อป้องกันไม่ให้อุตสาหกรรมดังกล่าวหยุดชะงัก เพราะจะทำให้สินค้าจำเป็นขาดแคลน ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมอาหาร น้ำตาล น้ำมันปาล์ม เครื่องจักรกลการเกษตร การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ พลาสติก แก้วและกระจก เยื่อกระดาษ อลูมิเนียม 2.อุตสาหกรรมยา สมุนไพร เครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ยาง 3.อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งหุ่ม 5.อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซ พลังงานหมุนเวียน และ 5.อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ

ทั้งนี้ ธุรกิจที่มีความจำเป็น (Essential) ต้องดำเนินการต่อไป ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจอย่างรุนแรงสามารถดำเนินการได้ อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม, เวชภัณฑ์การแพทย์, เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, ธนาคาร, ธุรกิจการเกษตร, พลังงานและสาธารณูปโภค รวมถึงอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ต้องป้อนอุตสาหกรรมข้างต้น ช่องทางการจัดจำหน่าย การขนส่งและโลจิสติกส์

นอกจากนี้ ได้เสนอให้งดการจ่ายประกันสังคมสำหรับลูกจ้างและนายจ้างเป็นระยะเวลา 4 เดือน, เพิ่มเงินช่วยเหลือลูกจ้างที่ว่างงานหรือถูกเลิกจ้างจากเดิม 50% เป็น 80%, เลื่อนการจ่ายค่าน้ำและค่าไฟออกไป 4 เดือน, ขอให้ภาคเอกชนหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า กรณีใช้งบประมาณเพื่อป้องกันโรคโควิด-19, ขอให้จัดระบบสาธารณูปโภคบริการได้อย่างต่อเนื่อง, ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจติดต่อกับภาคเอกชนสามารถให้บริการทางออนไลน์ได้ และ ขอให้ผู้ขนส่งสินค้าสามารถส่งสินค้าได้ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐมีมาตรการในการยับยั้งการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ที่เข้มข้น มุ่งเน้นการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งมาตรการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม การผลิตและการบริการเป็นวงกว้าง ทั้งนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจเบื้องต้นแล้ว อย่างไรตาม คาดว่าสถานการณ์นี้ คงจะยังมีผลต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ดำเนินต่อไปได้

"ภาคเอกชนจะพยายามทำหน้าที่เพื่อสังคมไทยและพร้อมประคองสถานการณ์ และช่วยให้ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤติไปได้ โดยจะร่วม สร้างความมั่นใจ สร้างความเชื่อมั่น สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ร่วมกับภาครัฐ" นายกลินท์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ