พาณิชย์ เผย FTA ดันส่งออกมังคุดไทยช่วง 5 เดือนแรกขยายตัว 16% แม้อยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 9, 2020 12:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามการส่งออก "มังคุด" หรือราชินีแห่งผลไม้ไทย ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-พ.ค.) พบว่าขยายตัว 16% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 และมีมูลค่าส่งออกถึง 290 ล้านเหรียญสหรัฐ แม้ยังอยู่ในช่วงสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ก็ตาม โดยมีจีน อาเซียน และฮ่องกง เป็นตลาดส่งออกสำคัญ มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึง 99% ของการส่งออกทั้งหมด แบ่งเป็นการส่งออกไปจีนมูลค่า 213 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 19% ส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 65 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4% (มีเวียดนามเป็นตลาดส่งออกหลักในอาเซียน ส่วนแบ่งตลาด 94% ของการส่งออกไปอาเซียน) ส่งออกไปฮ่องกง 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 171% ซึ่งไทยมีความตกลงเอฟทีเอ กับทั้ง 3 ประเทศ

นางอรมน กล่าวว่า ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกมังคุดไปตลาดโลกเพิ่มขึ้น ปัจจุบันประเทศคู่เอฟทีเอของไทย 14 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมา อินเดีย ชิลี เปรู และฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ามังคุดจากไทยแล้ว เหลือเพียง 4 ประเทศ ที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้า ได้แก่ เกาหลีใต้ (อัตราภาษีนำเข้า 24%) กัมพูชา มาเลเซีย และลาว (อัตราภาษีนำเข้า 5%) และเมื่อเปรียบเทียบสถิติมูลค่าการส่งออกมังคุดไทยสู่ตลาดโลกในปี 2562 กับปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ความตกลงเอฟทีเอฉบับแรกของไทยกับอาเซียนจะมีผลบังคับใช้ พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นถึง 53,468% โดยเฉพาะจีนขยายตัว 125,504% เมื่อเทียบกับปี 2545 อาเซียนขยายตัว 100% เมื่อเทียบกับปี 2535 เป็นต้น สอดคล้องกับสถิติในปี 2562 ที่มังคุดเป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยขอใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออกเป็นอันดับต้น โดยเฉพาะภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน และส่งผลให้ไทยครองแชมป์ผู้ส่งออกมังคุดของโลกในปีเดียวกัน

"ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้นเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและมีภูมิคุ้มกันต่อโรค ประกอบกับข้อได้เปรียบของผลไม้ไทยที่ได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอ จึงถือเป็นโอกาสทองที่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยจะขยายการส่งออกผลไม้ต่างๆ ของไทยไปยังต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น ควบคู่กับการรักษามาตรฐานสินค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล พัฒนาคุณภาพการผลิตตามความต้องการของตลาดที่ปัจจุบันนิยมผลไม้ปลอดสารพิษหรือเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งสร้างเอกลักษณ์ด้วยการพัฒนาสร้างตราสินค้า หรือแบรนด์ของผลไม้เป็นของตนเอง เพื่อสร้างความแตกต่างจากผลไม้ของประเทศอื่นเพื่อผลักดันให้ผลไม้ไทยครองใจผู้บริโภค" นางอรมน กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ