กสทช.หนุนใช้ 5G สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจรายภาคอุตสาหกรรม/เอกชนหวังเพิ่มประสิทธิภาพ-ลดต้นทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 24, 2020 18:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สายงานโทรคมนาคม กล่าวปาฐกถา "5G Booming sooner then later" ในงาน สัมมนา "5G & The Future of Industries" 5G กับอุตสาหกรรมไทยในอนาคตว่า กุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G จะมีด้วยกัน 4 ส่วน ได้แก่ 1.การจัดสรรคลื่นความถี่ให้เพียงพอ (Spectrum) โดยสำนักงาน กสทช.จะเป็นหน่วยงานในการเปิดประมูลคลื่นความถี่ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

2.โครงข่าย (Network) การขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมการใช้บริการ โดยกฎเกณฑ์ของ กสทช. มีการกำหนดให้มีโครงข่าย 5G ทั้งในรูปแบบการพึ่งพิงเสา 4G เดิม (NSA) และการสร้างโครงข่ายในรูปแบบ Standalone (SA) รวมถึงยังกำหนดให้การขยายโครงข่าย 5G จะต้องครอบคลุมพิ้นที่ EEC ราว 50% ภายในปี 64 ซึ่งที่ผ่านมา กสทช.ก็มีการเจรจากับผู้ประกอบการใน EEC อย่าง WHA, AMATA และวังจันทน์วัลเลย์ ของปตท. เป็นต้น อีกทั้งครอบคลุมพื้นที่ SMART City 50% ภายในปี 68 ประกอบด้วย ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่, ภาคอีสานจ.หนองคาย,นครราชสีมา, ภาคกลาง กรุงเทพฯ, นนทบุรี, สมุทรปราการ,สมุทรสาคร, ปทุมธานี และ นครปฐม ส่วนภาคใต้ จ.ภูเก็ตและสงขลา

3.อุปกรณ์ (CPF) ที่จะเข้ามารองรับการใช้งาน 5G ซึ่งปัจจุบันยังมีไม่มาก หรือมีอยู่ประมาณ 95 เฮดเซท กับอีก 40 ดีไวซ์ คาดว่าอุปกรณ์จะเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ในช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป พร้อมกันนี้สำนักงาน กสทช. ก็มีการเข้าไปเจรจากับทางสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่อจะเข้าไปติดตั้ง 5G ในโรงงานได้อย่างไร และยังเจรจากับทางสภาหอการค้าด้วย

4.ผู้ใช้ (Use Cases) โดยเริ่มจากประชาชน สำนักงานกสทช.จะเข้ามากำกับดูแลการให้บริการ 5G ในอัตราค่าบริการที่ไม่แพงไปกว่า 4G ขณะที่ในอุตสาหกรรมที่ผ่านมา ได้มีการดำเนินโครงการนำร่องในส่วนของอุตสาหกรรมการเกษตร หรือ Smart Agriculture กับทางแม่ฟ้าหลวง ภายใต้โครงการร้อยใจรักที่เชียงดาว ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก และอยู่ระหว่างต่อยอดไปในภาคอื่นๆ และการทำ Smart Hospital โดยร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช ทำโรงพยาบาลต้นแบบ มองว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยยกระดับการแข่งขันของไทยในอนาคตได้

ทั้งนี้เทคโนโลยี 5G จะส่งผลต่อเศรษฐกิจ หรือทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจรายภาค ที่ประกอบด้วยอุตสาหกรรมภาคการผลิต, ภาคการค้าและการเงิน, ภาคโทรคมนาคม, ภาคการขนส่ง, ภาคการศึกษา และภาคการแพทย์ เป็นต้น ในปี 63 คิดเป็นมูลค่ารวม 177,039 ล้านบาท หรือ 1.65% ของ GDP โดยในส่วนนี้จะมีมูลค่าการลงทุน คิดเป็น 112,215 ล้านบาท

นายสุทธิศักดิ์ กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้มีมาตรการส่งเสริมการใช้งาน 5G เพื่อสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1. มาตรการส่งเสริมการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน โดยส่งเสริมการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ทั้ง Passive และ Active, กำหนดให้การวางโครงข่ายไฟเบอร์ เพื่อบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นสาธารณูปโภค เช่นเดียวกับระบบน้ำและไฟ

2.มาตรการยกเลิกและลดข้อจำกัด เพื่อส่งเสริมการใช้ 5G ได้แก่ การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ร่วมกัน, การลดขั้นตอนติดตั้งสถานีฐาน ในพื้นที่ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยโดยไม่บังคับให้ทำประชาพิจารณ์, การลดอุปสรรคการนำเข้าอุปกรณ์เครื่องวิทยุคมนาคม รวมถึงการตรวจสอบรับรองมาตรฐาน (หากมีการรับรองแล้วจากหน่วยงานของต่างประเทศ)

3.มาตรการภาษีในการส่งเสริมการวางโครงข่ายไฟเบอร์ เนื่องจากโครงข่ายไฟเบอร์มีความสำคัญต่อการขยายโครงข่าย 5G จึงควรส่งเสริมการลงทุนขยายโครงข่าย เช่น การลดภาษีเงินได้ ในการลงทุนโครงข่าย MNO และอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น โรงงาน อาคาร หมู่บ้าน

4.มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ควรมีมาตรการ BOI ในการส่งเสริมการลงทุนพัฒนาระบบการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ให้เป็นระบบอัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบ

"เชื่อมั่นว่าหัวใจของความสำเร็จในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุค 5G ที่รุ่งเรือง หรือ Booming ได้เร็วที่สุด คือ พลังจากภาครัฐทุกหน่วยงานที่จะต้องเล็งเห็นประโยชน์และประยุกต์ใช้ 5G ในภารกิจของหน่วยงานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น เพราะโลกในยุคต่อไปหลังจาก New Normal จะเป็นโลกแห่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางเลือก เป็นโลกของคนรุ่นใหม่และคนที่เปิดใจยอมรับบริการภาครัฐที่ทันสมัย อาศัยเทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวก มีความรวดเร็ว แม่นยำ และเชื่อมโยงกันทั้งระบบ เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปยืนอยู่ในแนวหน้าของยุคอนาคตให้ได้"นายสุทธิศักดิ์ กล่าว

นายวุฒิชัย วุฒิอุดมเลิศ ผู้อำนวยการฝ่ายเน็ตเวิร์คโซลูชั่น บริษัท อีริสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในการเสวนา "5G Commercial reality" ภายในงานสัมมนา "5G & The Future of Industries" 5G กับอุตสาหกรรมไทยในอนาคต ว่า เทคโนโลยี 5G มีความแตกต่างกับเทคโนโลยีอื่นๆ อย่าง 2G, 3G และ 4G อยู่พอสมควร โดยเฉพาะในเรื่องของความต้องการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ข้อมูลการสื่อสารเพิ่มมากขึ้น, การนำระบบไร้สายมาให้บริการบรอดแบนด์ หรือ อินเตอร์บ้าน, การนำเอา Internet of things (IoT) เข้ามาใช้ในระบบอุตสาหกรรม และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมได้อย่างไร

ทั้งนี้ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมทั่วโลกได้มีการนำเทคโนโลยี 5G ไปใช้บ้างแล้ว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์(Automotive) ในเยอรมัน ที่มีการนำเอา 5G เข้าไปใช้ในส่วนของการผลิตรถยนต์ เพื่อช่วยให้การประกอบรถยนต์ในโรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น, autonomous driving trucks เริ่มมีส่วนเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้นในบางประเทศ เช่น ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ โดยจุดเด่นคือ คนขับ 1 คน สามารถควบคุมรถได้ถึง 6-10 คัน ทำให้ระบบมีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมท่าเรือ หรือ Smart Harbour ซึ่งในประเทศไทยก็เริ่มเห็นแล้วบ้าง ผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน

นายนิติ เมฆหมอก นายกสมาคมไทยไอโอที กล่าวว่า ในช่วงแรกของการเข้ามาของเทคโนโลยี 5G อาจจะยังมีคำถามในอุตสาหกรรมว่านำไปใช้อย่างไรได้บ้าง และการทำงานของโอเปอร์เรเตอร์ก็จะไม่เหมือนเดิม ที่สามารถเปลี่ยนซิมเอไอเอสแล้วเปิดใช้งานได้ทันที แต่การให้บริการ 5G จะต้องหาข้อมูลว่าโรงงานนี้ต้องการอะไร เพื่อเอา Use Case ไปตอบโจทย์ ซึ่งจะต้องไปทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์มากขึ้น

ขณะที่การที่มีเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ไม่ได้มองถึงความต้องการของลูกค้า ก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ฉะนั้นผู้ประกอบการจะต้องมองให้ออกว่าตัวเองคือใครใน Value Chain ของ IoT ซึ่งทางสมาคมไอโอที และหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีความพร้อมในการให้คำปรึกษา และช่วยผู้ประกอบการ

นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฎิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บมจ.แอดวนซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอส ได้มีการให้บริการ 5G มาตั้งแต่เดือนก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งการทดสอบ (Use Case) การให้บริการเรื่องแรกจะเป็นในเรื่องของ 5G Fixed Wirelesss Access (FWA) หรือการนำ 5G มาใช้เพื่อเสริมศักยภาพการใช้งานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ที่ห่างไกล ที่ไฟเบอร์ออพติกเข้าไปไม่ถึง และยังทดสอบในเรื่องของ AR (Augmented Reality), VR (Virtual Reality)

ส่วนภาคอุตสาหกรรม นอกเหนือจากที่เอไอเอสได้มีการให้บริการเครือข่าย 5G ครอบคลุมทั่วประเทศใน 77 จังหวัดแล้ว ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เอไอเอสก็มีการให้บริการ 5G ในนิคมอุตสาหกรรมครอบคลุม 27 นิคมอุตสาหกรรมด้วย รวมถึงการขยายโครงข่าย 5G เอไอเอสก็เป็นเจ้าแรกที่มีการขยายโครงการในรูปแบบ Satandalone (SA)

สำหรับการทดสอบ 5G ในภาคอุตสาหกรรมไทย ปัจจุบันเอไอเอสได้ร่วมมือกับท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี นำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ในกิจการท่าเทียบเรือขนส่งสินค้า เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถควบคุมเครนยกตู้สินค้าได้จากระยะไกล ผ่านโครงข่าย 5G ซึ่งถือเป็นรายแรกของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปัจจุบันก็มีการใช้งานจริงแล้ว

นายจิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี สิริ เวนเจอร์ส บริษัทในเครือแสนสิริ (SIRI) กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต้องการจากเทคโนโลยี 5G คือ สามารถเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของผู้อยู่อาศัยได้หรือไม่ ซึ่งปัจจัยหลักที่ผู้อยู่อาศัยต้องการอย่างมาก คือ ความปลอดภัย, การประหยัดค่าใช้จ่าย (cost saving) เป็นต้น ด้านมุมมองของผู้ประกอบการ ก็จะมองหาเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้การสร้างบ้านมีคุณภาพดีขึ้น, การบริหารจัดการหมู่บ้านที่ต้นทุนลดลง เนื่องจากต้นทุนเกินครึ่งเป็นค่าคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่ายาม หากได้กล้องซีซีทีวี หรือหุ่นยนต์คอยตรวจตราแทนยามได้ ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้บ้านมีความปลอดภัยมากขึ้น และลดต้นทุนลงได้

อย่างไรก็ตามบริษัทฯ อยู่ระหว่างพัฒนา ดีไซน์บ้านให้มีพื้นที่ใช้ไวไฟครอบคลุมตัวบ้าน 100% (wifi coverage) หรือนั่งทำงานที่ไหนภายในบ้านก็ได้ เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G ที่จะกำลังเข้ามา

"เรารอแอปพลิเคชั่น เรารอ Use Case ที่จะเกิดขึ้นได้จริง จากเทคโนโลยีที่จะเข้ามาใหม่ อย่าง 5G" นายจิรพัฒน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ