สนพ.คาด 2 เดือนเห็นแนวทางชัดเจนนำเข้า LNG หวังช่วยลดต้นทุนค่าไฟ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 24, 2020 08:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สนพ.คาด 2 เดือนเห็นแนวทางชัดเจนนำเข้า LNG หวังช่วยลดต้นทุนค่าไฟ

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปด้านพลังงานในการเปิดให้มีการแข่งขันในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) หลายราย โดยเป็นการใช้กลไกตลาดให้เกิดการแข่งขันด้านราคานำเข้า LNG ทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าลดลง ส่งผลให้มีราคาค่าไฟฟ้าถูกลงด้วย

ทั้งนี้ หากดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวได้ จะทำให้ประเทศไทยมีต้นทุนทางด้านพลังงานลดลง อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในที่สุด ดังนั้น ในประเด็นที่กล่าวข้างต้น กระทรวงพลังงาน ถือเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องดำเนินการต่อเนื่องตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 โดยเร็ว โดยจะเห็นแนวทางชัดเจนภายใน 2 เดือนสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง

อนึ่ง ผู้ได้รับใบอนุญาต Shipper ในไทยมีทั้งสิ้น 5 ราย ได้แก่ บมจ.ปตท. (PTT) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ,บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ,บริษัทร่วมทุนระหว่าง GULF และบมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) ในนามบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH) และกลุ่มบมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) โดยปัจจุบันมีเพียง PTT และ กฟผ. ที่มีการนำเข้า LNG เข้ามาแล้ว ส่วนการนำเข้าของเอกชนรายอื่นยังต้องรอการพิจารณาจากภาครัฐ ขณะที่ก๊าซฯ นับเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ในไทย

นายวัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ตามที่มีการนำเสนอมติ กบง เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 ได้สั่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เร่งการเจรจาชะลอหรือเลื่อนโรงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบเพื่อหวังลดสำรองไฟฟ้าที่สูงถึง 37-40% นั้นอาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ซึ่งในการแก้ไขปัญหากำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) สูงนั้น กระทรวงพลังงาน จะพิจารณาแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นระบบ โดยจะคำนึงถึงการนำไปสู่การบริหารจัดการระบบไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ลดต้นทุนของประเทศ ซึ่งมีแนวทางในการพิจารณา ได้แก่

ปลดโรงไฟฟ้าเก่าที่มีประสิทธิภาพต่ำออกจากระบบ เพื่อให้สามารถสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงได้อย่างเต็มที่ รวมถึงจะดำเนินการให้โรงไฟฟ้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ชัดเจนแล้ว ให้สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบตามเวลา ที่กำหนดไว้แล้วในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ซึ่งจะช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของประเทศแล้ว และยังช่วยลดต้นทุนของประเทศโดยรวม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ