ผู้เชี่ยวชาญแนะลงทุนตปท.ช่วงบาทแข็ง แต่เตือนระวังความเสี่ยงรอบด้าน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 2, 2007 18:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          3 ด๊อกเตอร์แนะแนวทางออกไปลงทุนต่างประเทศช่วงค่าเงินบาทแข็งเป็นจังหวะที่น่าสนใจ แต่จะต้องมีการกระจายความเสี่ยงที่ดี เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวนและมีความเสี่ยงหลายด้าน ทั้งผลกระทบจากความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อไปอีกนาน ผลพวงจากการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า รวมทั้งราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง 
นายทนง พิทยะ อดีตรมว.คลัง กล่าวในการสัมมนา"โกอินเตอร์กับบลจ.ทหารไทย"ว่า ความไม่สมดุลของระบบเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้มีเงินไหลออกจากสหรัฐมายังเอเชียค่อนข้างมาก เป็นผลสืบเนื่องจากการขาดดุลการค้าของสหรัฐ จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวของเงินทุนโลกที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงด้านความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
นอกจากนี้ ในยุคของกระแสโลกาภิวัฒน์ การปรับตัวไม่ทันกับกระแสของโลกก็เป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด เพราะจะทำให้เสียเปรียบ ทางแก้คือการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ด้วยการทำอาบิทราจ และเลือกการลงทุนในทรัพย์สินในประเทศที่มีพื้นฐานที่ดี
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าสายงานวิจัย บล.ภัทร (PHATRA)กล่าวว่า ความเสี่ยงในการลงทุนที่สำคัญที่ต้องเผชิญ คืออัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนากำลังมีปัญหาการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด โดยเฉพาะไทยที่ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น และยังมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าต่อไปในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
แต่ปัญหาการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดแก้ไขได้ด้วยการฟื้นการนำเข้า และลดการส่งออกลง เราคงต้องยอมให้มีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นบ้างเพื่อให้ต้นทุนการผลิตก็จะสูงขึ้น เพื่อให้ส่งออกลดลง ขณะเดียวกันต้องใช้โอกาสที่เงินบาทแข็งค่านำเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการผลิต พร้อมทั้งย้ายจากการพึ่งพาการส่งออกมาเติบโตในภาคอื่นแทน
นายศุภวุฒิ กล่าวว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายของรัฐบาลในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไม่ใช่มุ่งแก้ไขค่าเงินบาทเพียงด้านเดียว เพราะขณะไทยกำลังเผชิญกับปัญหาส่งออกมาก แต่นำเข้ามาไม่ทัน ขณะที่การทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นนั้นแม้จะเป็นหลักการที่ถูกต้องตามกลไกตลาด แต่ก็จะส่งผลต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นผู้ที่มีรายได้จากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว
สำหรับความเสี่ยงที่เกิดจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีนที่กำลังพยายามทำให้เงินหยวนแข็งค่าเพื่อแก้ไขปัญหาการเกินดุลกับสหรัฐ กลายเป็นความเสี่ยงต่อค่าเงินในภูมิภาค เพราะจะทำให้ค่าเงินในภูมิภาคต้องแข็งขึ้นตาม จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นด้วย
นายศุภวุฒิ กล่าวอีกว่า แม้ช่วงนี้จะเป็นจังหวะเหมาะที่จะไปลงทุนต่างประเทศ แต่อย่าหวังว่าจะได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่าในอนาคต เพราะเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าอยู่
ด้านนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มวิจัยเศรษฐกิจ บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจจีนคงจะไม่มีผลกับไทยมากนัก เพราะไทยยังส่งออกไปจีนค่อนข้างน้อย
แต่ปัญหาราคาน้ำมันเป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก ดูจากปีก่อนราคาน้ำมันปรับขึ้นสูงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางเป็นหลัก แต่ปีนี้ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงเป็นผลจากปัจจัยพื้นฐานที่ซัพพลายค่อย ๆ หายไป ขณะที่เศรษฐกิจไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากการพึ่งพาน้ำมันค่อนข้างมาก จึงน่าเป็นห่วงสำหรับราคาน้ำมันที่ยังผันผวน
นอกจากนั้น ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐที่ได้รับผลกระทบจากตลาดซับไพร์มที่ลุกลามไปถึงภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ ก็เป็นความเสี่ยงที่สำคัญ เพราะทำให้เกิดความกังวลของคนทั่วโลก เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐมีขนาดใหญ่และเชื่อมโยงภาคเศรษฐกิจสำคัญด้านอื่น ๆ
ขณะที่นายศุภวุฒิ เห็นว่า ปัญหาจากตลาดซับไพร์มในสหรัฐสร้างความกังวลกับนักลงทุนในเกือบทุกตลาดทั่วโลก โดยเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เนื่องจากคนเกรงว่าสภาพคล่องจะหดหาย
ดังนั้น การลงทุนที่น่าสนใจขณะนี้ควรจะเน้นไปที่ด้านสินทรัพย์ทางการเงินมากกว่า Hard Asset แต่ก็ต้องระมัดระวังลงทุนอย่างรอบคอบเพราะยังมีความผันผวนหลายอย่าง ควรเลือกลงทุนให้กระจายตัวไม่กระจุกตัวในประเภทใดประเภทหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น เพราะจะเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมาก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ