ไทย-ญี่ปุ่นพร้อมต่อยอดความร่วมมือศก. พร้อมเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 9, 2021 18:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้หารือทางโทรศัพท์กับนายซูกะ โยชิฮิเดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โดยได้แสดงความยินดีในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเข้ารับตำแหน่ง และทราบว่านายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเคยทำหน้าที่เป็นประธานร่วมฝ่ายญี่ปุ่นของคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย-ญี่ปุ่น (High Level Joint Commission: HLJC) สมัยที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จึงหวังว่าจะสานต่อความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมุ่งมั่นที่จะกระชับความร่วมมือกับญี่ปุ่น ในฐานะประเทศหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ซึ่งที่ผ่านมา แม้ว่าทั่วโลกจะพบกับความท้าทายจากสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นยังมีการติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง โดยไทยได้อำนวยความสะดวกการเดินทางระหว่างนักธุรกิจและประชาชนของทั้งสองฝ่ายตามมาตรการควบคุมโรคของรัฐบาลไทย

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยินดีที่ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก จากที่มีโอกาสทำหน้าที่สนับสนุนความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับไทย และเคยเยือนไทยเพื่อเข้าร่วม การประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้องเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งญี่ปุ่นชื่นชมการจัดการเพื่อควบคุมโควิดของไทย และญี่ปุ่นพร้อมให้ความสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ตู้แช่วัคซีน และบริการขนส่งแก่ไทย และประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ภายใต้ โครงการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าฉุกเฉินผ่านองค์การ UNICEF และ JICA ซึ่งจะช่วยทำให้แจกจ่ายวัคซีนให้แก่ประชาชนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีขอบคุณญี่ปุ่นที่สนับสนุนการค้าการลงทุนกับไทย และให้ความสำคัญกับการลงทุนในเขต EEC มาโดยตลอด โดยรัฐบาลไทยเตรียมการที่จะปรับปรุงแก้ไขอุปสรรคด้านการลงทุนต่าง ๆ พร้อมยกระดับสภาพแวดล้อม การทำธุรกิจภายในประเทศ เพื่อให้เอื้อต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่มีศักยภาพและมีความสนใจ

ด้านนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประสงค์ให้มีความร่วมมือระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งสองฝ่ายพร้อมสนับสนุนให้จัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย -ญี่ปุ่น (High Level Joint Commission: HLJC) ครั้งที่ 5 เพื่อขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีส่วนฟื้นฟูสำคัญภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีไทยได้กล่าวถึงนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) อนุรักษ์พลังงานและการรักษาสิ่งแวดล้อม จึงเชิญชวนให้ญี่ปุ่นพิจารณาไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ ในประเทศไทย

ในส่วนของความร่วมมือพหุภาคี ญี่ปุ่นเชื่อมั่นบทบาทของไทยการเป็นผู้นำในหลายด้านของภูมิภาค และพร้อมสนับสนุนความร่วมมือกับไทยเพื่ออนาคตความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong-Japan Cooperation - MJ) ที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยพร้อมร่วมมือกับญี่ปุ่นและประเทศสมาชิกอาเซียน ในโอกาสที่ไทยเป็นผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ช่วงปี 2564-2567 และทางนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นพร้อมสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพของไทย และร่วมมือกับไทยอย่างใกล้ชิดในห้วงที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเอเปคในปี 2565

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับญี่ปุ่นต่อสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นชื่นชมบทบาทของไทยและอาเซียน โดยทั้งสองฝ่ายพร้อมให้การสนับสนุนเมียนมาให้ลดความตึงเครียดของสถานการณ์ด้วยสันติวิธี และยืนยันให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสำหรับผู้หนีภัยความไม่สงบในเมียนมาตามหลักมนุษยธรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ