กรมชลฯ รณรงค์ให้เกษตรกรเร่งเพาะปลูกข้าวนาปีก่อนน้ำหลาก ลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 19, 2021 10:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนปี 2564 อย่างเป็นทางการไปแล้ว นั้น โดยคาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย 5-10% ประกอบกับหลายพื้นที่มีปริมาณฝนเพียงพอสำหรับการทำนาปีแล้ว จึงได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานทุกแห่ง โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ให้ประสานจังหวัดเพื่อประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกรในพื้นที่ ให้เริ่มทำนาปีหรือเพาะปลูกพืชพร้อมกัน

โดยการเพาะปลูกแต่ละพื้นที่จะใช้น้ำฝนเป็นหลัก และเมื่อเกษตรกรเพาะปลูกแล้ว ในช่วงเวลาที่ฝนตกน้อยจะใช้น้ำชลประทานเสริมน้ำฝน ทั้งนี้ในพื้นที่ที่มีฝนเพียงพอและสามารถปลูกได้เร็ว จะลดปัญหาความเสี่ยงที่เกิดความเสียหายในฤดูน้ำหลาก

ซึ่งในปีนี้ได้วางแผนเพาะปลูกพืชทั้งประเทศรวม 16.65 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีแผนเพาะปลูกพืช 7.97 ล้านไร่ ปัจจุบันพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกพืชไปแล้วประมาณ 543,725 ไร่ หรือคิดเป็น 38% ของแผนฯ ทั้งนี้ จะรณรงค์ให้เกษตรกรที่พร้อมทำนาปี เร่งเพาะปลูกเพื่อให้เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จทั้งหมดก่อนฤดูน้ำหลากในช่วงเดือนตุลาคม เป็นการลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย ทั้งยังสามารถใช้พื้นที่ที่เก็บเกี่ยวแล้วเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ หรือตัดยอดน้ำจากทางตอนบน ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำหลากที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนเมือง

นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ บริหารจัดการน้ำตามมาตรการที่วางไว้ ด้วยการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี วางแผนการปลูกพืชโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก เน้นย้ำบริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่ากรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งเก็บกักน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ควบคู่ไปกับการวางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย การกำหนดพื้นที่เสี่ยง กำหนดเจ้าหน้าที่ กำหนดเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าไปประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

กรมชลประทาน จะเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำในทุกช่วงเวลาให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด โดยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อลดผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 35,953 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 47% ของความจุอ่างฯ รวมกัน ยังรับน้ำรวมกันได้อีกประมาณ 40,114 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,736 ล้าน ลบ.ม. หรือ 35% ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังรับน้ำรวมกันได้อีกประมาณ 16,134 ล้าน ลบ.ม.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ