คกก.นโยบายประมงแห่งชาติ พร้อมขับเคลื่อนทุกมิติของการบริหารจัดการทรัพยากร

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday June 5, 2021 14:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง ในฐานะกรรมการและเลขานุการการประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564 เปิดเผยว่า การประชุมฯ ในวันนี้ ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานในหลายมิติที่เกี่ยวข้องกับภาคการประมง ได้แก่ การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย : การจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้าน ซึ่งจากการสำรวจเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 มีจำนวน 56,087 ลำ และอยู่ในระหว่างการจัดทำอัตลักษณ์เรือประมงพื้นบ้านของกรมเจ้าท่า ซึ่งทำให้การบริหารจัดการเรือประมงพื้นบ้านของไทยเป็นไปอย่างเป็นระบบมากขึ้น ส่วนในเรื่องการดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้บูรณการร่วมภายใต้ ศรชล. ได้มีการดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว สามารถส่งคืนพื้นที่ทางทะเลให้เป็นพื้นที่สาธารณะแล้วกว่า 51,301 ไร่ และร่วมกันหาแนวทางการยุติปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงหอยแครงและกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งขณะนี้พบว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยต่อจากนี้ภาครัฐจะเข้าไปขับเคลื่อนกลไกบริหารจัดการพื้นที่จับสัตว์น้ำโดยใช้กลไกคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเพื่อบริหารจัดการพื้นที่อ่าวบ้านดอน ทั้งในเขตและนอกเขตเพาะเลี้ยงหอยทะเล โดยใช้ข้อมูลทางวิชาการและใช้กลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
สำหรับการดำเนินการภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พบว่า ผลคดีการทำประมงผิดกฎหมายลดลง เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการประชาสัมพันธ์สร้างกระบวนการรับรู้ ภายใต้การผลักดันของคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มุ่งเน้นในการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่พี่น้องชาวประมง เพื่อป้องกันการทำผิดกฎหมายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กรมประมง จึงได้จัดทำเอกสารคู่มือชาวประมงพาณิชย์ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น กฎหมายประมงสำหรับประชาชนฉบับแรก ถอดกฎหมายเป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่าย ผลิตแจกจ่ายให้พี่น้องชาวประมง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติตามกฎหมาย และอนุรักษ์บริหารจัดการทรัพยากรให้มีความยั่งยืนควบคู่ไปกับวิถีการประกอบอาชีพประมงที่มั่นคง ส่วนความก้าวหน้าของการกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง เพื่อประโยชน์ในการบริหารทรัพยากรสัตว์น้ำได้มีการทำประชาพิจารณ์จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ และได้มีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการประจำจังหวัดทุกจังหวัด ในการกำหนดเขตทะเลชายฝั่งทั้ง 23 จังหวัดชายทะเล ซึ่งขณะนี้ อยู่ในระหว่างการจัดทำแผนที่และร่างประกาศกฎกระทรวงฯ เพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายฯ พิจารณาก่อนเสนอ ครม.ต่อไป
ส่วนการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในภาคการประมงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว จำนวน 324,610 ราย งบประมาณจำนวนกว่า 4,869,150,000 บาท กรมประมงยังได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาวประมง เช่น การออกประกาศอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องชาวประมงและเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และผู้ประกอบการด้านการประมง ในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉิน / การขยายเวลาชั่วคราวให้กับแรงงานต่างด้าวภาคการประมงให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ / การยกเว้นค่าธรรมเนียมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ใน 1 รอบปีของการเพาะเลี้ยง ซึ่งสามารถช่วยเกษตรกรให้ได้รับการยกเว้น จำนวน 21,041 ราย วงเงินเกือบ 60 ล้านบาท / การจัดสรรวันทำการประมงเพิ่มเติมให้กับประมงพาณิชย์ ในปีการประมง 2563 / มาตรฐานสินค้าประมงไทยและมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและประเทศคู่ค้า / การหาแหล่งระบายสินค้าประมงเพื่อทดแทนตลาดกุ้งและตลาดทะเลไทย จังหวัดสมุทรสาคร / โครงการจัดหาตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ / Fisheries Shop และตลาดไท เพื่อทดแทนตลาดที่ได้รับผลกระทบ และโครงการที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปล่าสุด เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 คือ คือ โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง ซึ่งที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติงบประมาณกรอบวงเงินสินเชื่อ จำนวน 10,300 ล้านบาท เพื่อให้พี่น้องชาวประมงได้สามารถมีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้สามารถนำไปเป็นทุนในการประกอบอาชีพประมงให้เกิดความมั่นคง ผลปรากฏว่ามีชาวประมงเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 5,598 ราย รวมวงเงินสินเชื่อที่ต้องการประมาณ 6,509 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในเรื่องของความก้าวหน้าของคณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งภายใต้ คกก.นโยบายการประมงแห่งชาติ ได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์ของนโยบายการพัฒนาการเพาะเลี้ยงฯ พ.ศ. 2566-2570 / เรื่องของการแก้ไขปัญหาการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายในทะเลสาบสงขลา / การป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลหายากและสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม
ในที่ประชุมคณะกรรมการฯ ยังได้ร่วมกันพิจารณาเห็นชอบแผนการบริหารจัดการประมงทะเลของประเทศไทย พ.ศ. 2563-2565 โดยมุ่งจัดการประมงให้ยั่งยืนภายใต้ความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมที่ดี แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมง IUU (NPOA-IUU) ฉบับที่ 2 ครอบคลุมกิจกรรมการทำประมงทะเลทุกมิติ และสุดท้ายคือการเร่งรัดมาตรการทางกฎหมายเพื่อให้ได้ผลการดำเนินคดีที่มีความรวดเร็วและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
อธิบดีฯ กล่าวว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ได้กล่าวขอบคุณพี่น้องชาวประมง ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้ประกอบการประมงทุกภาคส่วน ที่พยายามทำความเข้าใจ เสียสละ ให้ความร่วมมือ และเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงตามนโยบายของภาครัฐมาโดยตลอด เพื่อยกระดับการทำประมงของไทยสู่มาตรฐานสากล ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของไทยและส่งเสริมภาคการประมงให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ