ครม. รับทราบคาดการณ์ GDP ปีนี้โต 0.7-1.2% ท่ามกลางความเสี่ยงโควิดยังไม่แน่นอน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 17, 2021 16:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบ รายงานเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2564 ขยายตัว 7% ขณะที่แนวโน้มทั้งปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 0.7 - 1.2% ซึ่งแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 64 นี้ จะกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายลงทุน และมาตรการเศรษฐกิจของภาครัฐ รายได้ภาคเกษตรที่มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและฐานการขยายตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/64 ได้แก่ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัว 4.6% การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัว 1.1% การลงทุนเอกชนเพิ่มขึ้น 9.2% ขณะที่การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น 5.6% การส่งออกมีมูลค่า 67,761 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงสุดเท่าที่มีการจัดเก็บข้อมูล ขยายตัว 36.2% โดยสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกพิ่มขึ้น อาทิ รถยนต์นั่ง (89.1 %) รถกระบะ (190.5 %) เป็นต้น การนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 58,048 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 41.8 % ส่งผลให้ในครึ่งปีแรกมีมูลค่า 131,765 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ด้านการผลิต สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้และการประมง ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3

อย่างไรก็ตาม สาขาที่พักแรมและการบริการด้านอาหาร ขยายตัวจากฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.2% โดยในไตรมาสนี้มีรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยอยู่ที่ 0.035 ล้านล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยในไตรมาส 2/2564 มีจำนวน 20,275 คน

ทางด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ไทยมีอัตราการว่างงานในไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 1.9% ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ 2.0% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 2.4 % ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ 2.47 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหนี้สาธารณะมีมูลค่าทั้งสิ้น 8,825,097.8 ล้านบาท คิดเป็น 56.1% ของ GDP

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 64 คาดว่าจะขยายตัว 0.7 - 1.2% ปรับลดลงจากการประมาณการในครั้งก่อน 1.5-2.5% จากข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง คือ การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงและยังมีความไม่แน่นอนสูง ข้อจำกัดฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจท่ามกลางการว่างงานที่ยังสูง ความเสี่ยงของการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมจากการระบาดในพื้นที่การผลิต รวมทั้งข้อจำกัดห่วงโซ่การผลิตและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยว่า สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ยังได้เสนอ 7 ประเด็นบริหารเศรษฐกิจในปี 2564 ได้แก่ 1. การควบคุมสถานการณ์การระบาดให้อยู่ในวงจำกัด ลดการแพร่เชื้อเร่งรัดจัดหาและการกระจายวัคซีนอย่างเพียงพอและทั่วถึง 2. การช่วยเหลือเยียวยาประชาชน แรงงาน และภาคธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบในช่วงการระบาดของโรคยังรุนแรงและมีใช้มาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด 3. การดำเนินมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเมื่อสถานการณ์การระบาดผ่อนคลายลง 4. การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า 5. การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ 6. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน และ 7. การรักษาบรรยากาศทางการเมืองและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ