พาณิชย์-ศุลกากร วางมาตรการสกัดสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์สร้างความเชื่อมั่นปท.คู่ค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 12, 2022 13:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พาณิชย์-ศุลกากร วางมาตรการสกัดสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์สร้างความเชื่อมั่นปท.คู่ค้า

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการปกป้องคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้สินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามส่งออก ห้ามนำเข้า และห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา และกรมการค้าต่างประเทศเสนอ ภายใต้การบูรณาการร่วมกับกรมศุลกากร

ทั้งนี้ เพื่อสกัดกั้นสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ไม่ให้ส่งออก นำเข้า และผ่านราชอาณาจักร นำมาสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ณ จุดผ่านแดน สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าสอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS) และข้อตกลงว่าด้วยหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และที่สำคัญเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดต่อชีวิตหรือทรัพย์สินทางปัญญาของประชาชนจากการบริโภคสินค้าละเมิดฯ ซึ่งเป็นสินค้าด้อยคุณภาพ

ด้านนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ดังกล่าว ได้กำหนดให้สินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ ห้ามส่งออก นำเข้า และผ่านราชอาณาจักร โดยเจ้าของสิทธิสามารถแจ้งกรมศุลกากรได้โดยตรง เพื่อให้พนักงานศุลกากรตรวจสอบสินค้าต้องสงสัยว่าจะเป็นสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าหรือละเมิดลิขสิทธิ์ จากเดิมที่เจ้าของสิทธิต้องแจ้งผ่านกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อส่งข้อมูลไปยังกรมศุลกากร ทำให้สามารถกักสินค้าละเมิดฯ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

การดำเนินการดังกล่าว เป็นอีกหนึ่งมาตรการเชิงรุกด้านการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่กระทรวงพาณิชย์บูรณาการร่วมกับ กรมศุลกากร ซึ่งหลังจากนี้ คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี (คกอ.) จะพิจารณาร่างประกาศต่อไป และจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ