บลจ.กสิกรไทยมองปี 51 การลงทุนทุกด้านยังผันผวนแนะรอดูจังหวะเวลาเหมาะสม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 12, 2007 18:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ รองประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย กล่าวถึงแนวโน้มการลงทุนในปีหน้าในการสัมมนาหัวข้อ “เศรษฐกิจไทย พลังงาน และการลงทุนในปี 2551" ว่า ไม่ว่าจะลงทุนอะไรก็ยังคงมีความผันผวน โดยตลาดตราสารหนี้อาจไม่สดใสนัก เพราะจะมี Supply ใหม่เข้ามามากและได้รับผลกระทบจากการที่ภาครัฐออกพันธบัตรรัฐบาลมาก จึงทำให้ผลตอบแทนลดลง โดยแนะนำให้ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นไปก่อน แต่หลังจากปลายปีหน้าที่อัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับสูงขึ้นจึงค่อยหันไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว
ปัจจัยบวกของการลงทุนในตราสารหนี้ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ, เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว, ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ผ่อนคลายดอกเบี้ยมากขึ้น ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ นโยบายการก่อหนี้ของรัฐบาลใหม่ในปีหน้ามีแนวโน้มจะสูงขึ้น จากการออกพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้น, ดอกเบี้ยใกล้ถึงจุดต่ำสุด และราคาน้ำมัน-สินค้าโภคภัณฑ์ยังผันผวน
ส่วนการลงทุนในตราสารทุนนั้น ปัจจัยบวกคืออัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ, เงินยังไหลเข้าตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง, พื้นฐานเศรษฐกิจของไทยยังคงแข็งแกร่ง, ภาคเอกชนยังต้องขยายการผลิตเพิ่ม และการที่รัฐบาลลงทุนในระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่จะทำให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง
สำหรับแนวโน้มลงทุนในตลาดหุ้นมองว่าระยะยาวยังเป็นขาขึ้น ในขณะที่ระยะสั้นยังคงผันผวน ซึ่งปลายปีหน้าดัชนี SET จะสูงกว่าต้นปี โดยการลงทุนในหุ้นอาจได้กำไร 30-40% แต่ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวน โดยคาดว่าในช่วง 2 เดือนแรกจะมีกำไรเพราะพื้นฐานตลาดหุ้นไทยยังแข็งแกร่ง และมีต้นทุนต่ำ ซึ่งการลงทุนที่ดีนั้นเห็นว่าจะต้องมีทั้งซื้อและขายไม่ใช่การถือครองอยู่นิ่งๆ
นางวิวรรณ คาดว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 12-13% ส่วนผลตอบแทนการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ระยะยาว อยู่ที่ 4-4.5% และผลตอบแทนการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ระยะสั้น อยู่ที่ 2.5-3%
"การลงทุนปีหน้า ไม่ว่าจะลงทุนอะไรยังผันผวน คงต้องรอดูจังหวะเวลาในการลงทุนด้วย" นางวิวรรณ กล่าว
เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะเติบโตประมาณ 2.2% จากที่เดิมที่คาดว่าจะโต 2% ส่วนในปีหน้าแนวโน้มเศรษฐกิจยังคงชะลอตัวต่อเนื่องอยู่ที่ประมาณ 2.4% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกโดยรวมโดยเฉพาะประเทศในกลุ่มเอเชีย เช่น จีน, อินเดีย, ไต้หวัน, เกาหลี แต่ยังมองว่าเศรษฐกิจโลกยังพอจะเดินต่อไปได้แม้ทิศทางจะชะลอตัวลงจากปีนี้
ขณะที่เศรษฐกิจไทยปีนี้ คาดว่าจะเติบโตได้ในระดับ 4.3-4.6% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 4-4.5% เนื่องจากการส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง ปีนี้คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลประมาณ 12,000-14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ในปี 51 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 4-5% การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงเหลือ 6,000-10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมูลค่าการส่งออกที่ลดลง และส่งผลต่อเนื่องให้เงินบาทจะอ่อนค่าลงจากปีนี้
"ปีหน้ามีรัฐบาลใหม่มีการใช้จ่ายภาครัฐ และโครงการใหม่ๆ เสริม แต่ก็มีความเสี่ยงจากเรื่องของราคาน้ำมัน แต่ศักยภาพเศรษฐกิจไทยยังรับได้หากราคาน้ำมันไม่เกิน 100 เหรียญ/บาร์เรล และปัญหาซับไพร์ม แต่คาดว่ากว่าจะเห็นผลคงเป็นไตรมาส 1/51 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐทยอยประกาศผลการดำเนินงาน" นางวิวรรณ กล่าว
นางวิวรรณ มองว่า ภาวะดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงจะทำให้ในปีหน้าแนวโน้มเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นไม่เกิน 32 บาท/ดอลลาร์ แต่ทั้งนี้ขึ้นกับสถานการณ์ทางการเมืองด้วยเช่นกัน เพราะหากได้รัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพเงินบาทจะอ่อนโดยที่ทางการไม่ต้องแทรกแซง แต่ถ้าได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพเงินบาทก็จะแข็งค่า เพราะปกติประเทศไทยเกินดุลสะพัดในอัตราที่สูงอยู่แล้ว ประกอบกับตลาดในประเทศเกิดใหม่เช่นไทยยังน่าสนใจลงทุน
ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวอยู่ที่ 3.25% ไปจนถึงไตรมาส 4/51 จากนั้นอาจจะปรับเพิ่มขึ้น 0.25% เป็น 3.5% ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำอาจเพิ่มขึ้นอีก 0.25% เป็น 2.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อในช่วง 2 เดือนแรกของปี 51 เมื่อเทียบกับ 2 เดือนแรกของปีนี้มีโอกาสจะขึ้นไปถึง 4% กว่า จากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีนี้ที่ 2.5-3.5%
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า การลงทุนในไทยในปีหน้ามีโอกาสฟื้นตัวขึ้นมากจากที่ชะลอมา 2-3 ปี แม้ว่าโดยรวมปัจจัยต่างๆทั้งในและนอกประเทศบางอย่างยังดูไม่ดีนัก เช่น เรื่องของราคาน้ำมันที่ยังค่อนข้างสูง ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังคงเผชิญกับปัญหาซับไพร์ม แต่มองว่าการลงทุนอะไรที่เหมาะสม คือ ลงทุนอะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน หรือ พลังงานทดแทน เพราะราคาน้ำมันยังอยู่ระดับสูง ส่วนพลังงานทดแทนก็จะได้รับแรงผลักดันจากภาวะโลกร้อน
ขณะที่ในภาพรวมแม้ระดับราคาน้ำมันจะปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่ส่งผลกระทบไม่มาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีเงินจากผู้ผลิตน้ำมัน กลับเข้ามาลงทุนในตลาดเงินตลาดทุน และทำให้บางประเทศไม่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น เช่น ประเทศที่ผลิตสินค้าเกษตรอาจได้รับประโยชน์ ในฐานะที่สามารถผลิตพลังงานทดแทนได้
"และจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐประสบปัญหาทำให้บาทแข็ง ทำให้เราซื้อน้ำมันในราคาที่ไม่สูงเกินไป การที่ดอลลาร์อ่อนช่วยลดราคาน้ำมันได้ประมาณ 3 บาท/ลิตร" นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
ก่อนหน้านี้ การลงทุนในประเทศไทยมีความเสี่ยงเรื่องของการเมือง แต่ตอนนี้เมื่อมีการเลือกตั้งนักลงทุนก็จะกลับมามีความมั่นใจมากขึ้น และอาจกระตุ้นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ให้ขึ้นไปถึง 1,080 จุดได้ รวมทั้งผลจากการที่มีการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลใหม่ก็จะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ