โพล ส.อ.ท.ชี้ภาวะสินค้าแพงอาจลากยาวถึงสิ้นปี แนะรัฐช่วยลดค่าครองชีพ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 7, 2022 10:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหาร ส.อ.ท.(CEO Survey) ในเดือน ก.พ.65 เรื่อง "สินค้าแพง ค่าครองชีพพุ่ง จะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างไร" ผู้บริหาร ส.อ.ท.ชี้ปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 76.7%, ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 74.0%, ค่าขนส่งที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง 63.3% และปัญหาขาดแคลนแรงงานและภาระค่าใช้จ่ายด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้น 51.3% โดยผู้บริหาร ส.อ.ท. 35.3% มองว่าภาวะราคาสินค้าแพงจะยาวนาน 3-6 เดือน รองลงมา 34.7% มองว่า 6-12 เดือน ตามด้วย 30.0% มองว่านานมากกว่า 1 ปี

"ผู้บริหาร ส.อ.ท.มองว่าปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ และต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้ และคาดว่าภาวะราคาสินค้าแพงจะยาวนานไปอย่างน้อย 3 เดือน หรืออาจยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้ หากราคาพลังงานยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง" นายวิรัตน์ กล่าว

สำหรับมาตรการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพในการช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน 75.3% ระบุว่าลดค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า, ค่าน้ำประปา, ค่าเดินทาง รองลงมา 74.7% ระบุว่าลดภาระภาษีและค่าธรรมเนียม เช่น ภาษีสรรพสามิตเชื้อเพลิงและสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพอื่นๆ ตามด้วย 66.0% ระบุว่าตรึงราคาน้ำมัน ไม่ให้มีผลต่อต้นทุนสินค้า และ 59.3% ระบุว่ามาตรการใช้จ่ายลดค่าครองชีพ เช่น คนละครึ่ง

ส่วนภาคเอกชนจะช่วยเหลือประชาชนในการตรึงราคาสินค้าไม่ให้ปรับขึ้นได้นานเท่าไรนั้น ผู้บริหาร ส.อ.ท. 40.0% ระบุว่านาน 1-2 เดือน รองลงมา 30.7% ระบุว่า 3-4 เดือน ตามด้วย 16.7% ระบุว่ามากกว่า 6 เดือน และ 12.6% ระบุว่า 5-6 เดือน

โดยเอกชนควรปรับตัวรับมือกับกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่ชะลอตัวด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 77.3% ตามด้วยการนำระบบบริหารจัดการมาช่วยในการลดต้นทุนการผลิต เช่น LEAN, ไคเซ็น 61.3%, ปรับกลยุทธ์เน้นตลาดต่างประเทศ และการแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ๆ 54.0% และ เพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านตลาดออนไลน์ 50.0%

ผู้บริหาร ส.อ.ท. 58.0% คาดว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2565 จะเพิ่มขึ้น 2-4% ตามด้วย 23.3% คาดว่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 4% และ 18.7% คาดว่าเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2%

ทั้งนี้ ส.อ.ท.ได้สำรวจความคิดเห็นเรื่องดังกล่าวจากผู้บริหาร ส.อ.ท.จำนวน 150 คน ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ