CONSENSUS: จุดจบดอกเบี้ยต่ำ กูรู ฟันธง กนง.ทยอยปรับขึ้น 0.25% ต่อเนื่องตลอดปี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 8, 2022 12:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลายสถาบันฟันธงหมดยุคดอกเบี้ยต่ำเชื่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบ 10 ส.ค. ประเดิมปรับขึ้นดอกเบี้ยลักษณะค่อยเป็นค่อยไปในระดับ 0.25% เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาฟื้นตัว และยังคาดการณ์ว่า กนง.จะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องทำให้ภาพแนวโน้มชัดเจนเข้าสู่ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น

          สถาบัน               มติ กนง.(10 ส.ค.)   จำนวนครั้งที่ขึ้นดอกเบี้ย    อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 65

ศูนย์วิจัย Krungthai                  +0.25%                3                    1.25%
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา                  +0.25%               2-3                 1.0-1.25%
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ttb             +0.25%                3                    1.25%
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ                   +0.25%                3                    1.25%

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) ประเมินว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 10 ส.ค.นี้จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% โดยมองว่า กนง. จะให้เหตุผลในการปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่ต่างจากการประชุมครั้งที่แล้ว คือ เศรษฐกิจในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีสัญญาณของการฟื้นตัวชัดเจนพอสมควร ทั้งการส่งออก การใช้จ่ายในครัวเรือน และโดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่สถานการณ์ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

"ครั้งที่แล้ว กนง. ให้เหตุผลว่าเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น แต่ครั้งนี้เป็นการยืนยันสิ่งที่พูดไปครั้งที่แล้ว จึงมองว่าครั้งนี้น่าจะมีคณะกรรมการที่มองเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจน รวมทั้งจากการโหวตครั้งที่แล้วที่เฉือนกันแค่ 1 โหวต ครั้งนี้จึงมีโอกาสสูงที่จะขึ้นดอกเบี้ย" นายพชรพจน์ กล่าว

นายพชรพจน์ มองว่า สิ่งที่ กนง. คาดหวังผลของการขึ้นดอกเบี้ยคงไม่ใช่แบบเห็นผลทันที (Immediate effect) หรือผลในระยะสั้น (Short term) แต่เป็นการเริ่มต้นของการปรับสมดุลของนโยบายทางด้านการเงินของประเทศ โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ใช้มาตรการและนโยบายต่างๆ เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด เช่น การปรับดอกเบี้ยลงมาต่ำมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขณะเดียวกัน มองว่า ธปท.ก็คงคาดหวังว่าภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือน จะรับทราบว่าเศรษฐกิจขณะนี้กลับสู่ภาวะปกติมากขึ้นหลังจากวิกฤติด้วย

ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ มีทิศทางนโยบายสอดคล้องกับเศรษฐกิจโดยรวมที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวไปพร้อมเงินเฟ้อ ดังนั้น นโยบายการเงินที่เหมาะสม คือ การทยอยขยับขึ้นดอกเบี้ย แต่ไม่ใช่ลักษณะที่รีบขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ขณะเดียวกัน การขึ้นดอกเบี้ยก็เป็นไปในทิศทางที่ช่วยลดช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐ แต่จะเพียงพอแล้วหรือไม่นั้นไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากในทางทฤษฎีไม่มีระบุว่าดอกเบี้ยต้องห่างเท่าไรจึงเหมาะสม

อย่างไรก็ดี เกือบทุกประเทศ รวมถึงประเทศที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ค่าเงินอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ เนื่องจากสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยเร็วสุด ด้านประเทศไทยในช่วงที่ไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ย เงินบาทก็อ่อนค่ามากอยู่ที่กว่า 36 บาท/ดอลลาร์ โดยตลาดการเงินถ้านำส่วนต่างดอกเบี้ย หรือทิศทางดอกเบี้ยนโยบายเทียบสหรัฐฯ และแปลงมาเป็นค่าเงิน คิดว่าค่าทุกสกุลเงินเมื่อเทียบกับดอลลาร์อ่อนค่าถือว่าสอดคล้องแล้ว เพราะการเงินของสหรัฐฯ มีความเข้มงวดมากที่สุด

"หากเราไม่ขึ้นดอกเบี้ยเลย หรือขึ้นช้า เงินบาทจะขึ้นไปถึง 38-40 บาท/ดอลลาร์หรือไม่นั้น คิดว่าคงหยุดแค่ตรงนั้น เนื่องจากดอกเบี้ยไม่ใช่เรื่องเดียวที่กำหนดทิศทางของค่าเงิน แต่มีเรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งนักลงทุนต่างประเทศค่อนข้างเชื่อมั่น เพราะไทยมีทุนสำรองเยอะ โอกาสที่จะมาลงทุนแล้วไม่ได้เงินคืนมีน้อยมาก ถึงแม้ดอกเบี้ยไม่สูงแต่ก็นักลงทุนยังสบายใจที่จะลงทุนกับไทย การขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท. เป็นการดูบริบทของเศรษฐกิจที่เราฟื้นตัวแบบมีเงินเฟ้อ และโลกขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว เมื่อเราอยู่ในวงจรเศรษฐกิจที่ตามหลังไป 6 เดือน เราก็ต้องเริ่มปรับนโยบายไปทิศทางนั้นเช่นกัน" นายพชรพจน์ กล่าว

สำหรับการประชุม กนง. อีก 2 รอบหลังจากนี้ ในเดือน ก.ย. และ พ.ย. มองว่ามีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยทั้ง 2 รอบ ครั้งละ 0.25% อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับตัวเลขทางเศรษฐกิจที่จะออกมาในช่วงนั้นด้วยว่าจะออกมาดีมากน้อยแค่ไหน แต่มองว่าเป็นทิศทางขาขึ้น และหากตัวเลขเศรษฐกิจออกมาน่าพอใจต่อเนื่อง ธปท. ที่ประเมินเศรษฐกิจไทยว่าปีนี้ว่าจะเติบโตที่ 3.3% จะออกมาทบทวนประมาณการอีกครั้งในเดือนก.ย. และ พ.ย.

"ต้องดูว่า ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปสัญญาณเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ถ้านักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะกว่าที่คาดไว้ ก็มีโอกาสที่ดอกเบี้ยจะขึ้นทุกรอบ แต่ถ้ามีประเด็นอื่นเข้ามา ก็ต้องดูความเหมาะสมต่อไป ประเด็นของเราคือ ไม่คิดว่า ธปท.จะต้องเร่งเพื่อตอบโจทย์ลดช่วงว่างกับเฟด แต่ดูเพื่อความเหมาะสมว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบช้าหรือเร็ว ถ้าฟื้นเร็วและทั่วถึง ก็ขึ้นดอกเบี้ยได้เร็ว แต่ถ้าไม่ทั่วถึงก็ขึ้นช้าหน่อย ดังนั้น จะขึ้นทุกครั้ง หรือดีเลย์ 2 ใน 3 ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ มองว่าขึ้น 2 ครั้งก็ไม่ได้มากไป" นายพชรพจน์ กล่าว

นายพชรพจน์ กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปี 65 คาดว่าจะอยู่ที่ 1-1.25% โดยระดับนี้ถือว่ามีความเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้น และเงินเฟ้อไม่รุนแรงเพราะมาจากต้นทุนเป็นหลัก ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยแบบช้าๆ ครั้งละ 0.25% เหมาะสมแล้ว ไม่จำเป็นต้องขึ้นครั้งละ 0.50% หรือ 0.75% เหมือนประเทศอื่นๆ

"สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายปี 66 หากไม่มีเซอร์ไพรส์เพิ่มเติม ประเทศไทยก็มีไดรฟ์เวอร์หลัก คือ การท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวในปีหน้า ทิศทางของบ้านเราคือการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้สิ้นปีจะขึ้นไปที่ 1-1.25% แต่ก็ยังถือว่าต่ำเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับอดีต ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 3-4/65 เป็นต้นไป ปีหน้าก็จะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างต่อเนื่อง มองว่าปีหน้าดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่เป็นขาขึ้นเช่นกัน" นายพชรพจน์ กล่าว

ด้านน.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินว่า กนง.รอบนี้จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนั้นมีบางส่วนที่เกิดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำผิดปกติจะไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดย กนง.ต้องการดูแลการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชน ไม่ให้เกิดวงจรเงินเฟ้อในลักษณะที่คุมไม่อยู่ จนระดับราคาขาดเสถียรภาพ

พร้อมมองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ซึ่งแม้จะไม่ใช่การปรับขึ้นครั้งละมากๆ แต่สามารถลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อได้ โดยผ่านไปทางการลดเงินเฟ้อคาดการณ์ของสาธารณชน อย่างไรก็ดี ด้วยบริบทการฟื้นตัวของตลาดแรงงานของไทยที่ต่างจากสหรัฐฯ ทำให้ กนง.ไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละมากๆ

"ประเมินว่า กนง.พยายามรักษาสมดุล ไม่ให้การขึ้นดอกเบี้ยกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจและภาคแรงงานแข็งแกร่งมากกว่าไทย เราฟื้นช้ากว่า เพราะโรคระบาดทำความเสียหายต่อรายได้ภาคท่องเที่ยวอย่างรุนแรง อีกทั้งจีนยังคงเข้มงวดกับมาตรการควบคุมโรค โดยเราพึ่งพาท่องเที่ยวสูง และจีนเคยเป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทย" น.ส.รุ่ง ระบุ

ส่วนแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยในการประชุมรอบถัดไป คือ ก.ย. และ พ.ย.65 นั้น คาดว่ามีโอกาสที่ กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในรอบการประชุมเดือน ก.ย. ส่วนรอบการประชุมเดือน พ.ย. ยังมีความไม่แน่นอนว่าจะปรับขึ้นต่อ หรือจะคงไว้ก่อน ซึ่งอาจจะได้เห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในช่วงไตรมาส 1/66

ดังนั้น ในเบื้องต้นจึงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ณ สิ้นปี 65 จะอยู่ที่ระดับ 1.00-1.25%

น.ส.รุ่ง ยังได้ประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปี 66 ด้วยว่า คาดว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 1 อีก 0.25% และไตรมาส 2 อีก 0.25% แต่ทั้งนี้ ย่อมต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ในขณะนั้นด้วย เช่น สถานการณ์เงินเฟ้อโลก, การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และแรงส่งไปยังการจ้างงานและการบริโภคภาคเอกชน ตลอดจนนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และค่าเงินบาทด้วย

"หากปลายปีนี้ต่อเนื่องต้นปีหน้า เฟดเบามือเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย และราคาน้ำมันย่อลงได้บ้าง แรงกดดันจากกระแสการขึ้นดอกเบี้ยโลกจะผ่อนคลายลง เอื้อให้ กนง.ปรับนโยบายได้ยืดหยุ่น และสอดคล้องตามของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น" น.ส.รุ่ง ระบุ

ขณะที่ นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) คาดว่า กนง.รอบนี้จะตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ซึ่งเป็นไปตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้กับตลาดในก่อนหน้านี้ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงการประชุมรอบที่เหลือของปีนี้ ทั้ง ก.ย. และ พ.ย. ก็คาดว่า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องทุกครั้ง ครั้งละ 0.25%

ทั้งนี้ ประเมินว่า ณ สิ้นปี 65 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะไปแตะที่ระดับ 1.25%

"รอบนี้มติน่าจะเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% คงเป็นตามที่เคยส่งสัญญาณกับตลาดไว้ ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป...คงไม่เซอร์ไพร์สตลาดในการขึ้นแรงขนาด 0.50% คงขึ้นแค่ 0.25% แต่ขึ้นติดต่อกันทั้ง 3 ครั้ง ถ้าดูจากทิศทางเงินเฟ้อล่าสุดที่ออกมา เริ่มชะลอตัว ไม่เร่งตัวมาก จึงไม่ต้องตอบสนองด้วยการขึ้นดอกเบี้ยแรงๆ" นายนริศ กล่าว

โดยมองว่าการที่ กนง.จะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ ได้คำนึงถึงปัจจัยด้านอัตราเงินเฟ้อ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่เชื่อว่า กนง.คงไม่ได้คาดหวังที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อบรรเทาภาวะเงินบาทอ่อนค่า เพราะถือว่าไม่ตอบโจทย์

อย่างไรก็ดี แม้ความเสี่ยงที่จะเห็นเงินเฟ้อเป็นตัวเลข 2 digit คงจะไม่เกิดขึ้นแน่ แต่อัตราเงินเฟ้อในระดับปัจจุบันที่ 7%กว่าๆ ก็ยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทั้งนี้เชื่อว่าหลังจากไตรมาส 4 ไปแล้ว อัตราเงินเฟ้อน่าจะเริ่มชะลอตัวลง

"ความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะไปถึง 10% คงไม่เกิด แต่ยังกระทบอยู่ พอพ้นไตรมาส 3 แล้ว ไตรมาส 4 เงินเฟ้อน่าจะชะลอ เพราะฐานปีก่อนสูง ถ้าเงินเฟ้อจะพีค คงพีคในไตรมาส 3 แต่ถ้าช่วงนี้รอดไปได้ ไตรมาส 4 ก็คงจะไม่สูงไปกว่านี้แล้ว ถ้าไม่มีเหตุการณ์ใหม่เข้ามา" นายนริศ กล่าว

นายนริศ เชื่อว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศจากนี้ไปจะเข้าสู่ช่วงขาขึ้นอย่างแน่นอน เพราะตราบใดที่ยังเห็นทิศทางการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ก็จะเห็นแนวโน้มดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น

"ตามธรรมชาติ ในการขึ้นดอกเบี้ย ถ้าสัญญาณมาแล้ว ก็ควรจะขึ้นต่อเนื่อง ไม่ใช่ขึ้นๆ หยุดๆ เพราะไม่เช่นนั้น ตลาดจะงง...สำหรับดอกเบี้ยนโยบายของเรา คงเป็นขาขึ้นแน่นอนแล้ว" นายนริศ กล่าว

ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า การประชุม กนง.ในครั้งนี้ มีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% อย่างไรก็ดี มองว่า กนง.ไม่ควรรีบขึ้นดอกเบี่ยแรง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเพิ่งกระเตื้องขึ้น การขึ้นดอกเบี้ยอาจไม่ได้มีผลควบคุมเงินเฟ้อมากนัก เพราะเป็นเงินเฟ้อที่เกิดจากอุปทานที่ต้นทุนสูงขึ้น ไม่ใช่อุปสงค์ร้อนแรง และขณะนี้เองเงินบาทก็กลับมาแข็งค่า ช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อได้ระดับหนึ่งแล้ว

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะช่วยความร้อนแรงของเงินเฟ้อได้ระดับหนึ่ง ผ่านการทำงานของการคาดการณ์ของหน่วยเศรษฐกิจ ช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท และต้นทุนการนำเข้าสินค้าลดลงบ้าง แต่จะมีผลไม่มาก เนื่องจากเงินเฟ้อเกิดจากราคาพลังงาน และราคาอาหารแพงขึ้น

ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจด้วยต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น และภาระหนี้ของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ โดยวัฏจักรธุรกิจและสภาวะของเศรษฐกิจไทยไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขนาดเดียวกับสหรัฐฯ เนื่องจากเศรษฐกิจภาพรวมประเทศไทยพึ่งพารายได้จากภาคส่งออก และการท่องเที่ยวมากกว่า

"การที่ กนง. ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย อาจมาจากความกังวลเรื่องเงินทุนไหลออก เงินบาทอ่อนค่า และจะสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มเติม มองความคาดหวังของ กนง.คือ การควบคุมเงินเฟ้อ แต่ผลที่ไม่พึงประสงค์ อาจจะเป็นการชะลอการกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจ การชะลอการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และภาระหนี้ที่พุ่งสูงขึ้นของภาคครัวเรือนและเอกชน" นายอนุสรณ์ กล่าว

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะอยู่ที่ระดับ 3.25-3.50% ในช่วงปลายปี หาก ธปท.ไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเลยในปีนี้ก็จะทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศกับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาก กระตุ้นให้เกิดเงินทุนไหลออกของเงินทุนระยะสั้นเพิ่มเติม โดยเฉพาะเม็ดเงินเก็งกำไรในตลาดการเงินที่เงินบาทอ่อนค่าลงได้อีกจากระดับปัจจุบัน และอัตราเงินเฟ้ออาจปรับเพิ่มได้อีก

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/65 และโครงสร้างหนี้ในประเทศ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนและหนี้ของกิจการเอสเอ็มอี (SME) อยู่ในระดับสูงมาก เศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมจึงไม่พร้อมสำหรับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ควรรอให้เห็นสัญญาณของการกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจ และกำลังซื้อภายในให้ชัดเจนก่อน จึงตัดสินปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ มองว่า ไม่จำเป็นต้องกังวลเงินบาทอ่อนค่ามากเกินไป เพราะเมื่อเงินบาทอ่อนถึงจุดหนึ่งแล้ว กลไกอัตราแลกเปลี่ยนจะปรับสมดุลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากการเกินดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลลดลงจากภาคการท่องเที่ยว

"อัตราเงินเฟ้อน่าจะใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว มองว่าราคาพลังงานและน้ำมันในตลาดโลกน่าจะปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาส 4/65 อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นก็เท่ากับการ Tax on economic activities ฉะนั้นถึงที่สุดแล้วเงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน" นายอนุสรณ์ กล่าว

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า กรณีของประเทศไทย ในระยะสั้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นการกดดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจรุนแรงกว่าเงินเฟ้อ เนื่องจากเป็นเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนและราคาพลังงานสูง รวมทั้งต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้นอย่างมากจากสัดส่วนหนี้สินสูงเทียบ GDP การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจึงได้ผลในการคุมเงินเฟ้อไม่มากนัก แต่จะชะลอการกระเตื้องขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยไม่พร้อมรับดอกเบี้ยขาขึ้นในไตรมาส 3/65 จึงควรชะลอขึ้นดอกเบี้ยไปปลายปี โดยมองว่าแรงกดดันราคาพลังงานลดลงจะช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อ

สำหรับการประชุมในรอบที่เหลือในเดือน ก.ย. และ พ.ย. คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยรอบละ 0.25% รวมแล้วปีนี้จะปรับขึ้นประมาณ 0.75% ดังนั้น หากปรับขึ้น 3 ครั้งๆ ละ 0.25% ก็จะทำให้ส่วนต่างกับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ อยู่ที่ 2%

นายอนุสรณ์ ประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายปี 66 ว่า อาจจะมีการปรับเพิ่มขึ้นจากระดับปลายปีประมาณ 0.75-1.50% ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ทางเศรษฐกิจ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูง หากเงินเฟ้อโดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) สูงกว่าเป้าหมายในระดับปานกลางถึงมาก กนง. อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 1% แต่หาก Core CPI อยู่ในเป้าหมายกรอบด้านบนอาจจะปรับไม่ถึง 1%

ทั้งนี้ มีดัชนีทางเศรษฐกิจหลายตัวที่ต้องติดตาม เช่น อัตราเงินเฟ้อ ค่าเงินบาท อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นโยบายการเงินของไทยเป็นแบบใช้เงินเฟ้อเป็นเป้าหมายแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting Monetary Policy) จึงอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย หากอัตราเงินเฟ้อโดยเฉพาะ Core CPI ต่ำกว่าเป้าหมายมาก หรือเศรษฐกิจไทยกลับมามีภาวะถดถอยอีก

ขณะที่บล.กรุงศรี มีมุมทองที่แตกต่าง โดยคาดว่าการประชุม กนง.สัปดาห์นี้จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% จาก 0.50% เป็น 1% โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แม้อัตราเงินเฟ้อล่าสุดจะลดลงเป็น 7.61% จาก 7.66% แต่ยังเป็นตัวเลขที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ