KTB คาดศก.ไทยปีนี้โต 3.2% ก่อนขยายตัว 4.2% ปี66 แนะจับตาความท้าทายในอนาคต

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 16, 2022 13:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

KTB คาดศก.ไทยปีนี้โต 3.2% ก่อนขยายตัว 4.2% ปี66 แนะจับตาความท้าทายในอนาคต

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า Krungthai COMPASS ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยได้รับแรงหนุนจากการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีกว่าคาด โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2565 มีแนว โน้มขยายตัวได้ 3.2% สูงกว่าประมาณการเดิมที่ 3.0% ส่วนปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.2%

ด้านเงินเฟ้อนั้น คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นจาก 5.6% ในครึ่งปีแรกเป็น 6.6% ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีอยู่ ที่ 6.1% ก่อนจะชะลอตัวลงสู่ระดับ 2.0% ในปี 2566 จากการคลี่คลายของภาวะชะงักงันด้านอุปทาน รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โลกที่ช่วยลดแรงกดดันต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์

ทั้งนี้ Krungthai COMPASS ประเมินเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มชะลอตัว สถานการณ์เงินเฟ้อโลกยังไม่คลี่คลาย ทำให้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อจนแตะระดับ 3.3% ปลายปี 65 และคาดว่าการดำเนินนโยบายการเงินของ เฟด จะสามารถนำไปสู่ Soft Landing ได้

ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทย คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็น ค่อยไป สู่ระดับ 1.25% ในสิ้นปี 2565 และระดับ 2.00% ในสิ้นปี 2566

"เศรษฐกิจไทยกำลังเป็น The New K-shaped Economy โดยปัจจัยเสี่ยงใหม่จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากภาวะ เงินเฟ้อและต้นทุนสูง ทำให้ธุรกิจที่เติบโตได้ดีในช่วงที่ผ่านมา อย่างธุรกิจส่งออกเผชิญความท้าทายมากขึ้น ขณะที่ข้อจำกัดจากโควิด-19 ที่ ทยอยหมดไป จะเป็นแรงหนุนให้ธุรกิจในประเทศฟื้นตัวได้มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว" นายพชรพจน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า Krungthai COMPASS ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศปีนี้ จะฟื้นสู่ระดับ 8.1 ล้านคน สูงกว่า ประมาณการเดิมที่ 6.4 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 21.3 ล้านคนในปี 2566 หรือครึ่งทางของภาวะปกติ อย่างไรก็ดี หลายภาคส่วนได้รับ อานิสงส์ของภาพรวมที่ดีขึ้นไม่มากนัก ทำให้ยังมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายเศรษฐกิจช่วยประคับประคองต่อไป

"ตอนนี้เศรษฐกิจกำลังฟื้น ภาพรวมคือเครื่องยนต์เดิมเริ่มติด เช่น การท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3.2% ในปีนี้ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงพอสมควร ถ้าไม่เกิดโรคระบาดรุนแรงมากกว่านี้ เรามีมุมมองในทางบวกมากกว่าเดิม รอการฟื้นตัวของ เศรษฐกิจภายในประเทศ ถ้าทุกอย่างไม่สะดุด โอกาสที่จีดีพีปีนี้จะโตได้ 3% กว่าๆ และปีหน้า 4% ก็มีความเป็นไปได้" นายพชรพจน์ กล่าว

ประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2565-2566 โดย Krungthai COMPASS

                                                  ปี 2565            ปี 2566

- อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP)                    3.2%              4.2%
- การบริโภคภาครัฐ                                   -0.1%             -0.2%
- การบริโภคภาคเอกชน                                 4.6%              4.0%
- การลงทุนภาครัฐ                                     1.0%              3.0%
- การลงทุนภาคเอกชน                                  3.8%              4.8%
- มูลค่าการส่งออก                                     7.5%              2.5%
- มูลค่าการนำเข้า                                    14.5%              3.0%
- นักท่องเที่ยวต่างชาติ (ล้านคน)                          8.1              21.3
- เงินเฟ้อทั่วไป                                       6.1%              2.0%
- อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี                          1.25%             2.00%
- อัตราแลกเปลี่ยน ณ สิ้นปี (บาท/ดอลลาร์)             34.25-34.50        33.75-34.00

ด้านนายฉมาดนัย มากนวล ผู้อำนวยการฝ่าย Business Risk and Macro Research ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า ผล กระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จะทำให้การส่งออกในระยะข้างหน้าแผ่วลง เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัวได้สูงถึง 12.7% โดยการส่งออกในปี 2565 จะขยายตัวที่ 7.5% ส่วนในปี 2566 จะขยายตัว 2.5%

โดยในระยะข้างหน้า จะต้องจับตาการทบทวนการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ต่อจีน ซึ่งสหรัฐฯ อาจจะปรับลดหรือยกเลิกภาษี สินค้าบางรายการในกลุ่มสินค้าขั้นกลาง เช่น พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น เฟอร์นิเจอร์ โดยสินค้า เหล่านี้รวมกันคิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าว อาจได้รับผลกระทบ และต้องแสวงหาตลาดอื่นทดแทน

"การที่สหรัฐฯ จะทบทวน Trade War ที่เคยทำไว้กับจีน ซึ่งอาจจะมีการปรับนโยบายด้านภาษีต่อจีนให้ผ่อนลงมา ก็จะมีผล กระทบต่อสินค้าไทย ที่เคยได้ประโยชน์จากการส่งออกไปสหรัฐเพื่อทดแทนสินค้าจากจีน" นายฉมาดนัย กล่าว

พร้อมระบุว่า ความท้าทายอีกประการหนึ่ง คือ วิกฤตการณ์ของประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่ประสบปัญหาหนี้สาธารณะ และการ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางในเอเชีย ได้แก่ ลาว เมียนมา ปากีสถาน และศรีลังกา ซึ่งเป็นประเทศ ร่วมภูมิภาคที่มีความเชื่อมโยงกับไทย หากรวมสัดส่วนการส่งออกของไทยไปทั้ง 4 ประเทศแล้ว จะมีมูลค่ารวมกันประมาณ 3.79% ของ มูลค่าการส่งออกทั้งหมด ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ารวมประมาณ 2.39% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของไทย

"Krungthai COMPASS มองว่า ความเสี่ยงดังกล่าว ถือเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง หากปัญหาข้างต้นบานปลายจนกลาย เป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในอนาคต" นายฉมาดนัย ระบุ

นายฉมาดนัย ยังกล่าวถึงกรณีเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) หรือไม่นั้น มีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม ดัง นี้

1. สงครามรัสเซีย-ยูเครน มีแนวโน้มยืดเยื้อ โดยมองภาพสงครามในระยะข้างหน้า คือ เริ่มต้นด้วยการหยุดยิงและการ เจรจา ซึ่งคาดว่ายังไม่สามารถตกลงกันเรื่องพื้นที่ครอบครองได้ รัสเซียจะยังคงถูกคว่ำบาตร แต่ไม่เพิ่มความเข้มข้นขึ้น ขณะที่องค์กร ระหว่างประเทศเข้ามาสำรวจในพื้นที่หยุดยิง ก็จะทำให้รัสเซียเข้ามาทำสงครามได้ยากขึ้น ดังนั้น คาดว่าสงครามจะยืดเยื้อ แต่จะมีการ ผ่อนคลายลงมากขึ้น จากการที่ยุโรปยอมให้บางธนาคารของรัสเซียดูแลเรื่องส่งออก ซึ่งเป็นสัญญาณบวก

2. จีนจะยึดนโยบาย Zero COVID ต่อไป แต่ความเข้มข้นของนโยบายจะลดลง เนื่องจากจีนมีสัดส่วนเตียงสำหรับการดูแลผู้ ป่วยระยะวิกฤตต่อประชากร 1 แสนคนค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า เศรษฐกิจจีนอาจเติบโตลดลงมากจากนโยบาย Zero COVID

"สัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าจีนจะยึด Zero COVID ต่อไป คือ การยกเลิกการเป็นเจ้าภาพฟุตบอล Asian Cup Trophy (AFC) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีนยังมีความระวังตัวอยู่" นายฉมาดนัย กล่าว

3. ดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สามารถนำไปสู่ Soft landing โดยตลาดมองอัตราดอกเบี้ยของเฟด จะขึ้นไปสูงสุดที่ 3.4% ในเดือนก.พ. 66 แล้วค่อยปรับลงมาสู่ 2.9% ในปลายปี 66 ทั้งนี้ มีเพียง 3 ครั้งที่การขึ้นดอกเบี้ยส่งผลให้เกิด Hard landing รอบนี้คาดเฟดจะถอนคันเร่งมาสู่การผ่อนคลายดอกเบี้ยลง และสามารถไปสู่ Soft Landing

นายฉมาดนัย มองว่า โดยภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะไม่เผชิญกับภาวะถดถอยอย่างเต็มรูปแบบ สอดคล้องกับที่กองทุนการเงิน ระหว่างประเทศ (IMF) ที่ประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป ยังขยายตัวได้ในปี 65-66 ขณะเดียวกัน JP Morgan คาดว่ามี โอกาสประมาณ 40% ที่สหรัฐฯ จะเผชิญภาวะถดถอยในปี 65 ส่วนเศรษฐกิจโลกมีโอกาสเพียง 25% ที่จะเผชิญภาวะถดถอย

"มองว่า จะยังไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยแรงได้ ถ้าเกิด จะเป็นแบบชะลอตัว และเป็นในทางเทคนิคมากกว่า ขณะที่ สหรัฐฯ ตอนนี้เป็นเศรษฐกิจถดถอยในทางเทคนิคเท่านั้น" นายฉมาดนัย กล่าว

ด้านนายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Markets ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า ใน ช่วงที่เหลือของปีนี้จนถึงปี 66 การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทจะขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่

1. ทิศทางเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าในช่วงที่เหลือของปี 65 ก่อนกลับมาแข็งค่าในกลางปี 66 (US Dollar Smile Curve) จากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย

"ดอลลาร์จะอ่อนค่าในจังหวะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่โดดเด่น ซึ่งมองว่าน่าจะผ่านจุดพีคของภาคเศรษฐกิจ และ การเมืองของสหรัฐฯ มาแล้ว เฟดจึงไม่น่าจะขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ทั้งนี้ ดอลลาร์จะแข็งค่า จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย" นายพูน กล่าว

2. ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่สะท้อนผ่านดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอาจกลับมาเกินดุลในปี 66

"ถ้าปัจจัยพื้นฐานของไทยฟื้นตัว ก็จะทำให้บาทแข็งค่าได้ โดยขณะนี้ราคาสินค้าและพลังงานเริ่มทรงๆ ปัญหา Supply Chain ลดลง ความเสี่ยงเพียงอย่างเดียว คือ สถานการณ์โควิดในประเทศจีน หากมีความรุนแรงมากขึ้นจนต้องล็อกดาวน์" นายพูน กล่าว

3. ทิศทางกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายของนักลงทุนต่างชาติ เงินทุนไหลเข้าเพื่อหนุนค่าเงินบาท โดยนักลงทุนจะจับตาผล ประกอบการงบการเงินของไทย ซึ่งถ้าออกมาดีก็จะกลับเข้ามาลงทุน ขณะที่การลงทุนในตราสารหนี้ยังคงมีความน่าสนใจอยู่ ทั้งนี้ ใน ภาพรวม Fund flow ยังไหลเข้าไทย

นายพูน ประเมินว่า ค่าเงินบาทมีโอกาสทยอยกลับมาแข็งค่าในช่วงปลายปีนี้ อยู่ที่ระดับ 34.25-34.50 บาท/ดอลลาร์ ส่วน ปี 66 ประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยว และทิศทางการทยอยอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ จะส่ง ผลให้ค่าเงินบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 66 มีโอกาสแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 33.50-33.75 บาทต่อดอลลาร์ โดยคาดว่าเงินบาท ณ สิ้นปี 66 จะ อยู่ที่ระดับ 34.00 บาท/ดอลลาร์

"คาดเงินบาทแข็งค่าในไตรมาส 4/65 ค่าเงินบาทผันผวนมากขึ้นก่อนที่สหรัฐฯ จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะเดียวกัน ต้องจับตาเศรษฐกิจจีน ทั้งเรื่องอสังหาริมทรัพย์ และ Zero COVID ถ้าเริ่มมีการระบาดในเมืองใหญ่ จะทำให้ตลาดการเงินปิดรับความ เสี่ยง ส่งผลให้บาทอ่อนค่า อย่างไรก็ดี ถ้าปีหน้าการท่องเที่ยวดี บาทก็กลับมาแข็งค่าได้ ส่วนครึ่งหลังของปี 66 เงินบาทจะผันผวนมากขึ้น ในทางอ่อนค่า แต่สิ้นปี 66 อาจจะเห็นบาทกลับมาแข็งค่าที่ 34 บาท/ดอลลาร์ ได้บ้าง" นายพูน กล่าว

นายพูน กล่าวว่า จากมุมมองทั้งหมดข้างต้น Krungthai COMPASS ประเมินว่า ปี 65-66 นี้ จะเป็นช่วงเวลาที่ภาคธุรกิจ ต้องให้ความสำคัญการบริหารความเสี่ยง ทั้งจากปัจจัยระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นเป็นการบริหารต้นทุนจากภาวะเงินเฟ้อสูง และการป้องกันผลกระทบต่อรายได้ และต้นทุนจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

ส่วนในระยะยาว ภาคธุรกิจต้องรู้เท่าทันและปรับตัวสอดรับกระแสโลกที่เปลี่ยนไปตามวิถีใหม่ โดยเฉพาะการที่ทุกภาคส่วนให้ ความสำคัญกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย Net Zero Emissions และการปฏิรูป เศรษฐกิจโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสใหม่ในทางธุรกิจได้อีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ