ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคม.ค.สูงสุดรอบ 2 ปี เริ่มมั่นใจศก.ฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 9, 2023 11:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคม.ค.สูงสุดรอบ 2 ปี เริ่มมั่นใจศก.ฟื้น
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค.66 อยู่ที่ระดับ 51.7 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 นับตั้งแต่ พ.ค.65 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 26 เดือนนับตั้งแต่ ธ.ค.63

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 46.0 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 49.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 60.2

"การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทุกรายการ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น และจะเริ่มจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับในไตรมาสแรกของปีนี้" นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุ

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคม.ค.สูงสุดรอบ 2 ปี เริ่มมั่นใจศก.ฟื้น

โดยปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ 1.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ที่มอบเป็นของขวัญปีใหม่ 66 แก่ประชาชน เช่น มาตรการช้อปดีมีคืน, มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, มาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงิน 2.นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากขึ้น โดยเฉพาะจีนภายหลังจากการเปิดประเทศ 3.ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดี เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และช่วยเพิ่มกำลังซื้อในต่างจังหวัด 3.เงินบาทปรับตัวแข็งค่า สะท้อนถึงการไหลเข้าสุทธิของเงินตราต่างประเทศ

ขณะที่ยังมีปัจจัยลบ ได้แก่ 1.ผู้บริโภคยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า และรายได้ยังไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น 2.คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% 3. กระทรวงการคลัง ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 66 เหลือโต 3.0% จากเดิมคาด 3.4% จากผลของการส่งออกไทยที่หดตัวต่อเนื่องหลายเดือน 4.ความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่จะกระทบต่อราคาน้ำมันโลก และต้นทุนสินค้า 5.กังวลต่อปัญหาระบาดโควิด-19 ที่ยังมีการแพร่ระบาด

นายธนวรรธน์ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค.66 ที่ปรับตัวดีขึ้นสูงสุดในรอบ 26 เดือนนั้น ทำให้เห็นถึงมุมมองของผู้บริโภคที่เริ่มมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้น จากปัจจุบันที่เศรษฐกิจในประเทศเริ่มกลับมาคึกคัก ธุรกิจห้างร้านเปิดดำเนินกิจการได้เหมือนช่วงก่อนมีโควิด ภายหลังจากมีการเปิดประเทศ และนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อในภาคประชาชนเริ่มกลับมา โดยจะเห็นได้จากความต้องการซื้อสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์

อย่างไรก็ดี กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยเศรษฐกิจไทยยังเป็นลักษณะ K shape กล่าวคือ เป็นกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้สูง ในขณะที่ผู้มีรายได้ปานกลาง และผู้มีรายได้น้อย ยังมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย เนื่องจากยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในลักษณะ K shape นี้จะยังคงอยู่ไปตลอดช่วงครึ่งปีแรก

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากแนวโน้มของการเลือกตั้งใหม่ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนพ.ค. ทำให้มีการประเมินว่าจะมีเม็ดเงินจากการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งปีนี้ราว 5 หมื่นล้านบาท มากกว่าในช่วงการเลือกตั้งใหญ่ปี 62 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากพรรคการเมืองเริ่มดำเนินกิจกรรมรณรงค์หาเสียงก่อนการเลือกตั้งนานขึ้น ซึ่งเม็ดเงินจากการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่จะกระจายไปสู่ธุรกิจ ร้านค้าต่างๆ จะช่วยสร้างกำลังซื้อ การจับจ่ายใช้ของประชาชนให้เพิ่มขึ้น

พร้อมกันนี้ ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเด่นชัดขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป และฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีนี้ จะโตได้ใกล้เคียง 4%

"เมื่อมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ การโหมโรงเพื่อรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ก็น่าจะมีเม็ดเงินสะพัดจากการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวได้ชัดเจนขึ้นช่วงกลางปี และทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการช่วงเดือนมิ.ย. ก.ค. ดีขึ้นกว่าในช่วงก่อนมีโควิด และจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสมากขึ้นที่จะโตได้ 3.9 หรือ 4%" นายธนวรรธน์ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ