ดัชนีเชื่อมั่นฯ ม.ค. สูงสุดรอบ 43 เดือน รับอานิสงส์ช้อปดีมีคืน-ท่องเที่ยว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 15, 2023 09:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีเชื่อมั่นฯ ม.ค. สูงสุดรอบ 43 เดือน รับอานิสงส์ช้อปดีมีคืน-ท่องเที่ยว

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนม.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 93.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 92.6 ในเดือนธ.ค.65 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 43 เดือนนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.62

สำหรับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ ทั้งสินค้าคงทนและสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งอานิสงส์ของมาตรการช้อปดีมีคืน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 66 ช่วยส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศ ตลอดจนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการเปิดประเทศของจีน ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและทำให้จีนนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น

"คาดว่ามาตรการช้อปดีมีคืน ที่จะสิ้นสุดโครงการในวันนี้ จะมีเงินสะพัด 42,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.12% ของ GDP ซึ่งถือว่ามาก เป็นปัจจัยบวก" นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธาน ส.อ.ท. กล่าว

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 99.9 ในเดือนธ.ค. โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคในประเทศและการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัว โดยเฉพาะการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ขณะที่ภาคการผลิตมีคำสั่งซื้อและปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ

แต่อย่างไรก็ตาม อุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอลง เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการส่งออกของไทย

ขณะที่ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อเนื่องในปัจจัยด้านราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตลอดจนการแข็งค่าของเงินบาททำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสินค้าส่งออกของไทยลดลง

ข้อเสนอแนะส.อ.ท.ต่อภาครัฐ มีดังนี้

1. เสนอให้ปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดที่ 2 สำหรับเดือนพ.ค.-ส.ค. 66 (จากเดิม 5.24 บาท) โดยให้ปรับลดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากมีปัจจัยบวกที่สนับสนุนทั้งราคาแก๊สที่ถูกลง และค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชน และลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการ

2. เสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ที่ยังมีปัญหาสภาพคล่องและขาดเงินทุนหมุนเวียน

"คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีนโยบายที่จะปรับดอกเบี้ยเพิ่มอีก 0.25% ในการประชุมกนง. เดือนมี.ค. และอีก 0.25% ในเดือนพ.ค. ดังนั้น ดอกเบี้ยจะอยู่ที่ประมาณ 2% และมีผลต่อเนื่องกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จาก 6.1% เป็น 6.6% ซึ่งก็ถือว่าสูง จึงอยากให้ภาครัฐมาช่วยดูแล" นายสุชาติ กล่าว

3. เร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม ที่ได้เปรียบไทยเรื่องสิทธิทางภาษีต่างๆ อาทิ ความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป (EU) และ FTA ระหว่างไทย-GCC (กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ)

4. เสนอให้รัฐเข้ามาดูแลเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพมากกว่านี้ เนื่องจากค่าเงินบาทที่มีความผันผวนสูง ทำให้ภาคธุรกิจดำเนินการต่างๆ ได้ยาก ไม่สามารถคาดการณ์ วางแผนล่วงหน้าได้ อย่างไรก็ดี มองว่าค่าเงินบาทที่มีความเหมาะสม ทั้งกับฝั่งผู้นำเข้าและผู้ส่งออก อยู่ที่ประมาณ 34.00 บาท/ดอลลาร์ และไม่ควรแตะถึง 38.00 บาท/ดอลลาร์

"เงินบาทจะอ่อนค่าหรือแข็งค่าอยู่ที่มุมมองว่านำเข้าหรือส่งออก แต่ตั้งแต่เดือนต.ค. 65 (38.80 บาท/ดอลลาร์) ถึง ต้นเดือนก.พ. 66 (32.88 บาท/ดอลลาร์) เงินบาทผันผวนถึง 7 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งช่วงต.ค. บาทอ่อนค่ามาก เข้าใจว่าเพราะประเทศมีปัญหา ดอลลาร์แข็งค่าเพราะสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ย และยังไม่มีปัจจัยบวกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น ทั้งเรื่องนักท่องเที่ยวที่ยังไม่เข้ามา และเดือนธ.ค. 65-ม.ค. 66 ส่งออกที่ติดลบ จึงมองว่าปัจจัยไม่ได้มาจากเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง น่าจะมาจากเงินทุนไหลเข้าเพื่อเก็งกำไรของนักลงทุนต่างชาติ ดังนั้น ถ้าเป็นปัจจัยจริง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลังต้องเข้ามาดูแล" นายสุชาติ กล่าว

นายสุชาติ กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานในขณะนี้ว่า ไทยขาดแคลนแรงงานอยู่ที่ประมาณ 350,000-500,000 คน โดยแรงงานภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการขาดแคลนมากที่สุด เนื่องจากการท่องเที่ยวกลับมาแบบฉับพลัน ทำให้ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวปรับตัวไม่ทัน ทั้งนี้ แรงงานที่อยู่ในภาคบริการและภาคการผลิต สามารถแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. แรงงานที่มีฝีมือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานไทย และ 2. แรงงานที่ไร้ฝีมือ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 3 ล้านคน โดยปัญหาที่เกิดขณะนี้คือ ช่วงที่มีสถานการณ์โควิดระบาด มีแรงงานไทยส่วนหนึ่งกลับท้องถิ่น และแรงงานต่างด้าวส่วนหนึ่งกลับประเทศ ทำให้แรงงานหายไปจากระบบ

อย่างไรก็ดี กระทรวงแรงงานได้รับทราบปัญหาดังกล่าวแล้ว และมีมาตราการทำให้แรงงานถูกกฏหมายมากขึ้น เนื่องจากไทยขาดแคลนแรงงาน จึงมีการนำเข้าแรงงานผิดกฏหมายมากขึ้น จึงมีนโยบายให้แรงงานลงทะเบียนเพื่อนิรโทษกรรมให้แรงงานถูกกฏหมาย

"ส.อ.ท. ผลักดันเรื่องแรงงาน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ภาครัฐรู้อยู่แล้ว แต่เราไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพียงฝ่ายเดียว ประเทศต้นทางต้องร่วมมือด้วย โดยต่างด้าวที่อุตสาหกรรมไทยต้องการมากที่สุดคือ เมียนมาร์ ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 60% แต่ขณะนี้เมียนมาร์ติดปัญหาเรื่องให้คนออกนอกประเทศ" นายสุชาติ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ