BAY คาดกรอบบาทสัปดาห์นี้ 34.30-35.00 จังหวะที่ยากขึ้นสำหรับเฟด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 13, 2023 14:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.30-35.00 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 35.03 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินยูโร เยนและฟรังก์สวิสในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินที่มีความเชื่อมโยงสูงกับเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์

โดยในช่วงต้นสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์ได้แรงหนุนจากการทบทวนแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ยกสูงขึ้น หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เปิดโอกาสสำหรับการกลับไปขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 50bp ขณะที่กระบวนการลดลงของเงินเฟ้อ (Disinflationary Process) เชื่องช้าเกินไป

อย่างไรก็ดี อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ดิ่งลงอย่างมีนัยสำคัญในเวลาต่อมา ท่ามกลางความตึงเครียดในภาคการเงินสหรัฐฯ ส่วนข้อมูลเดือน ก.พ.บ่งชี้ว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากค่าจ้างชะลอลง ขณะที่อัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงาน (Labor Force Participation) กระเตื้องขึ้น ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 10,381 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 9,116 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า ตลาดจะติดตามดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.พ.ของสหรัฐฯ รวมถึงการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 50bp สู่ระดับ 3.00% อนึ่ง ในภาพใหญ่การสั่งปิดธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ (SVB) ซึ่งถือเป็นการล้มละลายของธนาคารรอบล่าสุด สะท้อนความเปราะบางด้านสภาพคล่องจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของดอกเบี้ยในปีที่ผ่านมา แม้ในเวลานี้ยังไม่ใช่ความเสี่ยงเชิงระบบอย่างเต็มรูปแบบ โดยการเข้าแทรกแซงภาคการเงินของทางการสหรัฐฯ อาจช่วยระงับความตื่นตระหนกช่วงสั้น

อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของตลาดการเงินโลก สนับสนุนมุมมองเชิงบวกต่อค่าเงินเยนของเราในปีนี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกย่อลงและความผันผวนสูงขึ้น แม้ในการประชุมครั้งล่าสุดธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะคงนโยบายผ่อนคลายมากเป็นพิเศษก็ตาม

สินทรัพย์สกุลเงินตลาดเกิดใหม่รวมถึงเงินบาท เราประเมินอย่างระมัดระวังว่าแรงขายดอลลาร์จากประเด็นที่เฟดมีแนวโน้มจะลดความแข็งกร้าวในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. (จากกรณีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของระบบ) อาจถูกจำกัดด้วยความวิตกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไป ซึ่งมีความไม่แน่นอนเพิ่มสูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ