BAY คาดกรอบบาทสัปดาห์นี้ 34.50-35.40 ลุ้นยอดจ้างงานสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 4, 2023 15:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.50-35.40 บาท/ดอลลาร์

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 35.07 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 34.58-35.37 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ยกเว้นยูโรในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ดัชนีดอลลาร์แตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนครึ่ง หลังจากหนึ่งในผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ให้ความเห็นว่าดอกเบี้ยนโยบายในเวลานี้อยู่ในระดับที่เข้มงวดมากพอแล้ว และมองว่ามีความเป็นไปได้ที่เฟดจะลดดอกเบี้ยในช่วงหลายเดือนข้างหน้ากรณีที่เงินเฟ้อชะลอตัวลงเข้าใกล้ระดับเป้าหมาย และการลดดอกเบี้ยจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับความพยายามที่จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ

ท่าทีดังกล่าวนับเป็นสัญญาณแรกที่นักลงทุนได้รับจากเฟดเกี่ยวกับแนวโน้มการผ่อนคลายนโยบาย อีกทั้งเพิ่มความหวังว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะ Soft Landing โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) สหรัฐฯ ดิ่งลง ขณะที่ตลาดล่วงหน้าบ่งชี้ว่าเฟดอาจจะปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกเร็วขึ้นเป็นเดือน มี.ค.67 ส่วนดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐานของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3.5% ในเดือน ต.ค.ซึ่งเป็นการปรับขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย.64

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า นักลงทุนจะติดตามดัชนีภาคบริการและข้อมูลจ้างงานเดือน พ.ย.ของสหรัฐฯ เพื่อประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยเฟดต่อไป หลังจากบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ ร่วงลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยหากข้อมูลเศรษฐกิจบ่งชี้ถึงแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่อง ขาลงของค่าเงินดอลลาร์จะเปิดกว้างมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอาจผันผวนสูงกรณีตัวเลขออกมาในเชิงผสมผสาน นอกจากนี้ราคาทองคำในตลาดโลกจะมีผลต่อค่าเงินบาทเช่นกัน

ส่วนปัจจัยในประเทศ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงดอกเบี้ยด้วยเสียงเอกฉันท์ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวสมดุลมากขึ้น ทั้งนี้ กนง.คาดว่าจีดีพีปี 2566 จะขยายตัว 2.4% จากเดิมคาดไว้ 2.8% ส่วนเศรษฐกิจปี 2567 มีแนวโน้มเติบโต 3.2% หากไม่รวมผลของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่ถ้ารวมผลของโครงการดังกล่าวคาดว่าจะขยายตัว 3.8% ลดลงจาก 4.4% ที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ ท่าทีดังกล่าวสนับสนุนมุมมองของเราที่ว่า กนง.จะตรึงดอกเบี้ยไว้ตลอดหลายไตรมาสข้างหน้าแต่พร้อมปรับนโยบายตามปัจจัยภายในและต่างประเทศที่อาจเปลี่ยนแปลงไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ