ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมปรับเพิ่มครั้งแรกรอบ 5 เดือน ท่องเที่ยว-บริโภค-ส่งออกหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 12, 2023 11:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนพ.ย.66 อยู่ที่ระดับ 90.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 88.4 ในเดือนต.ค.66 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ซึ่งเมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชน โดยการปรับราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร ช่วยเพิ่มกำลังซื้อประชาชน ส่งผลให้การบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น สะท้อนจากดัชนีคำสังซื้อและยอดขายที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าคงทน อาทิ รถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ ตู้เย็น และสินค้ากึ่งคนทน อาทิ สินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง และเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก เป็นต้น รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค

ขณะเดียวกัน ภาคการส่งออกก็มีทิศทางดีขึ้น เนื่องจากอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าทยอยฟื้นตัวจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ภาคการผลิตเร่งขึ้น เพื่อรองรับคำสั่งซื้อและยอดขายที่เพิ่มขึ้นในเทศกาลช่วงปลายปี นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากราคาพลังงานที่ปรับลดลง

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรถยนต์ที่กดดันกำลังซื้อของประชาชน ตลอดจนความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ

ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 97.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 94.5 ในเดือนต.ค. โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการ e-Refund และโครงการฟรีวีซ่า รวมถึงมาตรการอื่น ๆ เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และการท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึน รวมถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ที่ยังกดดันการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และวัตถุดิบต่าง ๆ

นายเกรียงไกร กล่าวด้วยว่า ผู้ประกอบการยังมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้

1.ขอให้พิจารณาปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดที่ 1 ของปี 2567 (ม.ค.-เม.ย.) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมถึงเร่งปรับโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าให้เกิดความเป็นธรรม ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้

2.เสนอให้ภาครัฐพิจารณาขยายเวลามาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาท/ลิตร ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.66 รวมถึงมาตรการลดราคาขายปลีกกลุ่มน้ำมันเบนซินลง 2.50 บาท/ลิตร ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ม.ค.67 เพื่อช่วยลดภาระให้แก่ประชาชน และลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ

3.ขอให้ภาครัฐเข้มงวดการตรวจจับสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ โดยเฉพาะสินค้าออนไลน์ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค รวมทั้งสกัดกั้นการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศ

สำหรับปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในปี 67 มองว่า เศรษฐกิจโลกปีหน้ามีความเปราะบาง จากที่หลายฝ่ายมีการประเมินว่าเมื่อเกิดภาวะสงคราม ราคาน้ำมันอาจพุ่งไปแตะ 100 ดอลลาร์/บาร์เรลในช่วงฤดูหนาว แต่กลับไปไม่ถึง เนื่องจากกำลังซื้อของโลกลดลง ตลาดหลักประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ดังนั้น การส่งออกมีความเปราะบาง อย่างไรก็ดี คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดว่าปีหน้าจะดีกว่าปีนี้อยู่ที่ 2-3% แต่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ต้องเร่งหาตลาดใหม่ และเจรจา FTA

ในส่วนของต้นทุนที่เกิดขึ้น เช่น ค่าไฟ มองว่าจำเป็นต้องอยู่ในช่วง 2.70-3.30 บาท/หน่วย ถึงจะสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ซึ่งต้องเร่งตั้ง กรอ.พลังงาน อย่างไรก็ดี ถ้าปีหน้าค่าไฟปรับเพิ่มเล็กน้อย และค่าแรงเพิ่มตามไตรภาคี 2-16 บาท ก็เป็นต้นทุนที่ยอมจะรับได้ แต่ถ้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการพิจารณาใหม่ ให้กลับไปทบทวนใหม่ ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นอีก ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง นอกจากนี้ การเกิดเอลนีโญ และโลกร้อนยังเป็นปัญหาใหญ่ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนไปสู่การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งในส่วนนี้ก็มีความเป็นห่วงในกลุ่ม SMEs ว่าจะปรับตัวไม่ได้

ขณะที่ปัจจัยบวกในปีหน้า คือ ภาคท่องเที่ยว แม้ปีนี้นักท่องเที่ยวจะไม่ถึง 30 ล้านคนตามที่ตั้งเป้าไว้ แต่ถือว่าการจับจ่ายใช้สอยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การบริโภคภายในประเทศดีขึ้น ส่วนปี 67 ตั้งเป้านักท่องเที่ยวที่ 34-35 ล้านคน อยากได้นักท่องเที่ยวที่กระเป๋าหนัก เช่น จีน กลับมา

"ตัวเลขนักท่องเที่ยวปี 66 ที่ 27-28 ล้านคน ไม่ตรงเป้า แต่ถือว่าเยอะขึ้น แต่ว่าการจับจ่ายใช้สอยยังลดลงประมาณ 10-11% แต่นักท่องเที่ยวไทยเที่ยวเยอะ แต่จับจ่ายลดลง 30-35% เงินหายไป 1 ใน 3 ดังนั้น ปีหน้าจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวไทยเพิ่มเงินขึ้น" นายเกรียงไกร กล่าว

ขณะเดียวกัน หวังว่าปัจจัยบวกอีกหนึ่งอย่างคือ Soft Power สร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคท่องเที่ยว ภาคบริการ และส่งต่อไปอีกหลายๆ ภาคเช่น การจ้างงาน และสินค้าอุตสาหกรรม ส่วนภาคลงทุนก็เป็นปัจจัยบวกที่ต้องติดตาม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปโรดโชว์ ซึ่งหวังว่าจะมีอุตสาหกรรมใหม่ๆ เข้ามา ซึ่งหากปัจจัยต่างๆ เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ เศรษฐกิจปีหน้าก็จะมีการขับเคลื่อนมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ