ทะเลแดงยืดเยื้อ สะเทือนส่งออกไทยทำต้นทุนพุ่ง พาณิชย์จับตาใกล้ชิด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 11, 2024 18:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ประเมินผลกระทบในการส่งออกสินค้าในเส้นทางผ่านทะเลแดงยังยืดเยื้อ ทำให้ผู้ส่งออกสินค้าไทยไปอเมริกาเหนือ ตะวันออกกลาง และยุโรป ได้รับผลกระทบจากสายเดินเรือปรับขึ้นค่าระวาง และค่าธรรมเนียมต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากมีความเสี่ยงมากขึ้น และต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางขนส่งทำให้ระยะเวลาการขนส่งเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังต้องแย่งกันจองเรือในการขนส่งสินค้าด้วย รวมถึงยังเกิดความไม่แน่นอนในระยะเวลาจัดดส่งสินค้าถึงมือลูกค้าที่อาจต้องช้าลง

โดยสินค้าไทยที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว คือ ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ส่งไปซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาเหนือ และโรป, ยางล้อรถยนต์ อาหาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกของไทยในภาพรวมไปยุโรปอยู่ที่ 7-8% ของการส่งออกไปทั่วโลก ถือว่าเป็นตลาดสำคัญของไทย ผู้ส่งออกไม่ต้องการให้ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้นมาก เพราะจะไม่เป็นผลดีต่อการส่งออกโดยรวมของไทยได้

ด้านนายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI) กล่าวว่า ขณะนี้ค่าระวางเรือที่ผ่านทะเลแดงได้ปรับเพิ่มขึ้นมาแล้ว โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 200-400% โดยในเส้นทางการขนส่งไปเมืองเจดดาห์ ซาอุดิอาระเบีย, เมืองอากาบาของจอร์แดน และเมืองซอคน่าของอียิปต์ ค่าระวางเรือได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 8,500 เหรียญสหรัฐฯต่อตู้ 20 ฟุต จากเดิมที่ 1,500 เหรียญสหรัฐฯ และไปตุรกีเพิ่มเป็น 7,500 เหรียญสหรัฐฯ จาก 2,400 เหรียญสหรัฐฯ สำหรับเส้นทางไปยุโรปเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3 เท่าตัว

"ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าจะต้องเตรียมการรับมือในการจองตู้และสายเดินเรือล่วงหน้าประมาณ 1 เดือนและหากเป็นสินค้าส่งออกที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนมาก ควรรอ และยืดเวลาการส่งออกไปในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนก.พ.นี้ที่เป็นช่วงวันหยุดตรุษจีนของประเทศจีน เนื่องจากคาดว่า ค่าระวางเรือจะลดต่ำลงในช่วงนั้น เมื่อเทียบกับช่วงนี้ที่จีนกำลังเร่งนำเข้าและส่งออก ก่อนหยุดยาวตรุษจีน" นายสมพล กล่าว

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาการปรับขึ้นค่าระวางเรือที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบว่า ได้ขอให้บริษัทสายการเดินเรือคงค่าระวางเรือไว้ตามสัญญา ซึ่งได้รับคำมั่นว่า ค่าระวางเรือที่จองไว้ล่วงหน้าจะเป็นไปตามสัญญา ไม่ปรับขึ้น แต่หากจะปรับขึ้นจะขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจริง แต่ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบริษัทแม่ด้วย

สำหรับค่าธรรมเนียน (เซอร์ชาร์จ) ต่างๆ ที่เกิดขึ้นต้องการให้สายการเดินเรือประกาศให้ทราบชัดเจน เพื่อให้ผู้ส่งออกวางแผนและเจรจากับผู้นำเข้าได้ รวมทั้งค่าฟรีไทม์ (ช่วงเวลาที่ตู้คอนเทนเนอร์อยู่ในท่าเรือโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย) ขอให้สายการเดินเรือเจรจากับท่าเรือ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยกระทรวงพาณิชย์จะทำหนังสือถึงบริษัทสายการเดินเรือเพื่อแจ้งข้อกังวลดังกล่าว รวมถึงการประกาศค่าเซอร์ชาร์จที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่เกิดความขาดแคลนของตู้คอนเทนเนอร์ และเรือขนส่งสินค้าเหมือนช่วงโควิด แต่กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ เตรียมส่งหนังสือถึงการท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมศุลกากร และกรมเจ้าท่า เพื่อให้ช่วยประเมินและรวบรวมจำนวนตู้ทั้งส่งออกและนำเข้าทั้งหมด และจะติดตามประเมินสถานการณ์ตู้อย่างใกล้ชิดต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ