ครม.เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์พัฒนารายภาคเสริมศักยภาพศก.ชุมชน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 6, 2008 18:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

         น.ส.ศุภรัตน์ นาคบุญนำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)เสนอ เพื่อให้มีการนำศักยภาพที่มีอยู่และโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัตน์ไปสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ในแต่ละภูมิภาค ให้ได้ประโยชน์ที่สมดุลและยั่งยืนในระยะยาว
"ครม.อนุมัติกรอบกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค เพื่อให้การพัฒนาสอดคล้องกับศักยภาพที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่" น.ส.ศุภรัตน์ กล่าว
ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมุ่งสร้างความเชื่อมโยงของทิศทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ นโยบายรัฐบาล แผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2551-54 รวมทั้งแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 และแผนพัฒนาประเทศด้านต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสการพัฒนาภูมิภาคของประเทศให้สอดรับกับศักยภาพและภูมิสังคมของพื้นที่
ทั้งนี้ มีการกำหนดรูปแบบการพัฒนาเชิงพื้นที่ของประเทศและภาค ตลอดจนระบบชุมชนและโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจและส่งทอดความเจริญไปสู่ภูมิภาค เพื่อสร้างความสมดุลของการพัฒนา และกำหนดบทบาทและยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคให้สอดคล้องกับศักยภาพและโอกาสของพื้นที่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจ สร้างงานและสร้างรายได้แก่ประชาชน ควบคู่กับการพัฒนาคนและยกระดับคุณภาพชีวิต การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมทั้งการรักษาความมั่นคงและการบริหารจัดการที่ดีของประเทศ
สำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคเหนือ ประกอบด้วย การปรับโครงสร้างการผลิตสู่การพึ่งตนเองตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, ยกระดับการค้าและบริการให้ได้มาตรฐานทันต่อการเปลี่ยนแปลงของกระแสตลาด, พัฒนาเมืองศูนย์กลางความเจริญและเมืองชายแดนเพื่อรองรับการเชื่อมโยงในระดับนานาชาติ, พัฒนาศักยภาพของสถาบันครอบครัวและชุมชนให้มีความเข้มแข็งในการพัฒนาที่นำไปสู่การพึ่งตนเอง และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เป็นต้น
กลุ่มจังหวัดมีทิศทางการพัฒนาที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ภาค ประกอบด้วย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน สุโขทัย ตาก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี
ส่วนยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ, สร้างคนให้มีคุณภาพ, สร้างสังคมและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมบูรณ์
กลุ่มจังหวัดมีทิศทางการพัฒนาที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ภาค ประกอบด้วย อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู เลย สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และ อำนาจเจริญ
ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคกลาง ประกอบด้วย การพัฒนาฐานเศรษฐกิจหลักของประเทศให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาเสถียรภาพการพัฒนาอุตสาหกรรม เกษตร การบริการ การลงทุนให้มีความมั่นคงและเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ, พัฒนาศักยภาพ คน สังคมและชุมชนให้มีคุณภาพ มีธรรมภิบาลเพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลกรวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น, อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีความสมดุลต่อระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาฐานเศรษฐกิจหลักของประเทศ, เสริมสร้างศักยภาพการพัฒนาเมืองและพื้นที่ชายแดนตามแนวเส้นทางเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งแนวเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก เพื่อเป็นประตูการค้าเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านและนานาชาติ เป็นต้น
กลุ่มจังหวัดมีทิศทางการพัฒนาที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ภาค ประกอบด้วย นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรีชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร สมุทรสงครามสมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว
ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคตะวันออก ประกอบด้วย แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม บริหารจัดการด้านการผลิต การแปรรูป พัฒนาระบบการกระจายสินค้าและการตลาด ส่งเสริมประมงแบบเพาะเลี้ยงชายฝั่ง ฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งทะเล สนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณี จัดระเบียบแหล่งท่องเที่ยว ปรับเปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยว และจัดกลุ่มแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสร้างจุดเด่นและความเป็นเอกลักษณ์ สนับสนุนการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน
โดยกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด
ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้ ประกอบด้วย การเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคการผลิตหลักให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน, ขยายฐานเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มความหลากหลายของแหล่งสร้างรายได้และการจ้างงานให้แก่ภาค, พัฒนาคนและสังคมให้มีคุณภาพและมีภูมิคุ้มกันที่ดีเพื่อเสริมสมรรถนะการพัฒนาภาค, เสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมระดับชุมชน และฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อรักษาสมดุลเชิงนิเวศน์อย่างยั่งยืน
กลุ่มจังหวัดมีทิศทางการพัฒนาที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ภาค ประกอบด้วย ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ