จุฬาฯ-WEF ห่วงศก.ไทยรั้งอันดับ 51 ของโลก แนะแก้เหลื่อมล้ำ-พัฒนาขีดความสามารถ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 22, 2024 15:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จุฬาฯ-WEF ห่วงศก.ไทยรั้งอันดับ 51 ของโลก แนะแก้เหลื่อมล้ำ-พัฒนาขีดความสามารถ
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) ร่วมกับ World Economic Forum (WEF) เผยแพร่รายงานอนาคตการเติบโต The Future of Growth Report 2024 ซึ่งทำการสำรวจและวิเคราะห์ทิศทางการเติบโตในอนาคตของประเทศต่างๆ ครอบคลุม 107 ประเทศทั่วโลก พบว่า ประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 51

อันดับ 1 ของโลก คือ ประเทศสวีเดน ตามด้วยสวิสเซอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก

ในแถบประเทศเอเชีย ญี่ปุ่นนำโด่งในลำดับที่ 11 ตามด้วยเกาหลี (12) และสิงคโปร์ (16) ในขณะที่มาเลเซีย อยู่ลำดับที่ 31 เวียดนาม 36 อินโดนีเซีย 50 และไทยลำดับ 51 จากคะแนนรวมที่ถ่วงน้ำหนักทั้ง 4 มิติแห่งการเติบโตของประเทศ ได้แก่

  • ด้านนวัตกรรม (Innovativeness)
  • ด้านความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐาน (Inclusiveness)
  • ความยั่งยืน (Sustainability)
  • ความยืดหยุ่น (Resilience)

จากการเปรียบเทียบผลประเมินของประเทศไทยกับผลประเมินโดยรวมของประเทศต่างๆ ทั่วโลก และผลประเมินของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน พบว่า ประเทศไทยมีคะแนนด้านนวัตกรรม (Innovativeness) เท่ากับ 47.94 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก (45.2) และค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (39.3) สะท้อนให้เห็นถึงความโดดเด่นของไทยในการเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรม

ด้านความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐาน (Inclusiveness) ประเทศไทยได้คะแนน 55.66 ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยโลก (55.9) และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (54.8) แสดงให้เห็นว่าไทยยังคงดำเนินการเพื่อการเติบโตที่เป็นธรรม และรวมทุกภาคส่วนเข้าไว้ด้วยกัน

ด้านความยั่งยืน (Sustainability) คะแนนของประเทศไทยเท่ากับ 40.84 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก (46.8) และค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (44.0) จึงเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความจำเป็นที่ต้องมีการเร่งดำเนินการเพื่อพัฒนาด้านความยั่งยืนของไทยให้เพิ่มมากขึ้น

ด้านความยืดหยุ่นและการปรับตัว (Resilience) ซึ่งแสดงถึงการปรับตัวต่อผลกระทบต่างๆ คะแนนของประเทศไทยเท่ากับ 51.5 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก (52.75) เล็กน้อย แต่ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (50.0) สะท้อนให้เห็นว่าไทยมีความสามารถในการตอบสนอง และฟื้นฟูจากวิกฤติต่างๆ ได้พอประมาณ และควรมีการพัฒนาในด้านนี้ต่อไป

นายวิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) กล่าวว่า ในภาพรวมประเทศไทยมีคะแนนและอันดับอยู่ในระดับกลาง ต้องรอดูว่า การเติบโตในอนาคตต่อจากนี้จะออกหัวหรือก้อย ซึ่งถ้าไทยพัฒนาก็จะเดินหน้าไปต่อ แต่ถ้าอยู่เฉยๆ ก็จะโดนประเทศอื่นแซงหน้า

ดังนั้น ประเทศไทยควรเร่งเพิ่มขีดความสามารถในทุกด้าน แม้ว่าด้านนวัตกรรมจะทำได้ดี แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาในด้านต่างๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะด้านความยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างคุณภาพของการเติบโตของประเทศให้ดียิ่งขึ้น

"การนำเสนอรายงานในครั้งนี้ แสดงให้เห็นข้อมูลระดับประเทศ ที่ช่วยให้ผู้มีส่วนกำหนดนโยบาย และทิศทางในการพัฒนาการเติบโตของประเทศจาก 4 มิติ ที่สำคัญต่อการเติบโตของประเทศ ซึ่งจะเป็นเข็มทิศในการกำหนดแนวทางนโยบาย และกลยุทธ์สำหรับประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างการเติบโตที่มีทั้งในด้านนวัตกรรม ด้านความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐาน ด้านความยั่งยืน และด้านยืดหยุ่นให้ดียิ่งขึ้นไป" นายวิเลิศ กล่าว

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าความสามารถของไทยสามารถเร่งความเร็วได้มากกว่านี้ ซึ่งมีบางด้านที่อาจต้องการกลยุทธ์ที่ก้าวกระโดด เพื่อให้ไทยสามารถเติบโตได้ อาทิ ด้านความยั่งยืน ที่ไทยยังได้คะแนนน้อย ส่งผลให้ดึงภาพรวมอัตราการเติบโตของไทยลง เนื่องจากบ่อยครั้งไทยเน้นการแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ไม่มีแผนระยะยาว เช่น เรื่องปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เป็นต้น

สำหรับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต มองว่า การให้รายได้ไม่สำคัญเท่าการสอนให้มีรายได้มากขึ้น เนื่องจากการให้เงินเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่การสอนให้สร้างรายได้เป็นแผนระยะยาว เป็นการเติบโตที่เรียกว่า Future Growth

ส่วนประเด็นเรื่องการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และเรื่องค่าแรงขั้นต่ำนั้น มองว่า ตลาดแรงงานจะราคาสูงหรือต่ำ ไม่สำคัญเท่าคุณภาพของแรงงาน พอแรงงานมีคุณภาพก็จะมีรายได้มากขึ้น ดังนั้น ควรลดความเหลื่อมล้ำด้วยการพัฒนาคุณภาพของอาชีพ และการศึกษามากกว่า

ขณะที่นโยบายแลนด์บริดจ์ มองว่า เป็นนโยบายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต แต่ต้องมองในภาพรวมว่า จะเชื่อมกับทุกภาคส่วนได้อย่างไร รวมถึงผลกระทบ และประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ