บอร์ด BOI อนุมัติส่งเสริมลงทุนขนาดใหญ่ 4 โครงการ มูลค่ากว่า 2.9 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 6, 2024 17:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งที่มีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ เป็นประธาน ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ 4 โครงการ รวมมูลค่า 29,702 ล้านบาท ได้แก่

1. บริษัท เน็กซ์ ดีซี จำกัด ผู้ให้บริการ Data Center ระดับ Hyperscale รายใหญ่อันดับ 1 ของออสเตรเลีย ลงทุนในโครงการ Data Center มูลค่า 13,759 ล้านบาท ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยจะให้บริการ Data Center ที่มีมาตรฐานสูงสุดระดับ Tier 4 รองรับกลุ่มผู้ใช้งานหรือองค์กรที่ต้องการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มีเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือระดับสูงสุด รวมทั้งผู้ให้บริการ Cloud Service ในลักษณะ Enterprise Cloud ที่ให้บริการทั้งในและต่างประเทศ

2. บริษัท ซีทีอาร์แอลเอส ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CtrlS Datacenters ผู้ให้บริการ Data Center ระดับ Hyperscale อันดับ 1 ของอินเดีย ลงทุนในโครงการ Data Center มูลค่า 5,044 ล้านบาท ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) จังหวัดชลบุรี โดยจะให้บริการ Data Center ที่มีมาตรฐานสูงสุดระดับ Tier 4 รองรับการจัดส่งข้อมูลความเร็วสูงและอัตราการตอบสนองที่รวดเร็ว (Low Latency) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มธุรกิจที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC

3. บริษัท ซิง ต๋า สตีล คอร์ด (ไทยแลนด์) จำกัด โครงการผลิตลวดเหล็กสำหรับอุตสาหกรรม เช่น Steel Cord, Bead Wire, Steel Wire เป็นต้น ใช้สำหรับเสริมความแข็งแกร่งให้กับยางล้อรถยนต์ และรถบรรทุกประเภท Radial Tire มูลค่าลงทุน 6,661 ล้านบาท ตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดชลบุรี

4. บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) โครงการผลิตไอน้ำ มูลค่าลงทุน 4,238 ล้านบาท ในจังหวัดสระบุรี โครงการนี้จะผลิตไอน้ำโดยใช้เชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) ส่งจ่ายให้กับโรงผลิตไฟฟ้า และโรงผลิตปูนซีเมนต์

"โครงการที่ได้รับอนุมัติครั้งนี้ เป็นโครงการลงทุนสำคัญ และเป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในศักยภาพของไทย โดยเฉพาะโครงการ Data Center ขนาดใหญ่ 2 รายจากออสเตรเลีย และอินเดีย ซึ่งเป็นกิจการที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล สำหรับโครงการผลิตลวดเหล็กที่ใช้กับยางล้อรถยนต์ จะช่วยเสริมซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ให้แข็งแกร่งขึ้น ในส่วนของโครงการผลิตไอน้ำโดยใช้เชื้อเพลิงจากขยะ จะช่วยลดปัญหาปริมาณขยะในประเทศ ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน" นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าว

สำหรับการปฏิบัติงานในปี 2567 บีโอไอได้กำหนดภารกิจ 5 ด้านสำคัญ คือ

1) เดินหน้าดึงการลงทุนเชิงรุก ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 สาขา ได้แก่ BCG, ยานยนต์ไฟฟ้า (EV), อิเล็กทรอนิกส์, ดิจิทัล และกิจการสำนักงานภูมิภาค โดยเจาะกลุ่มนักลงทุนในประเทศเป้าหมาย เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และยุโรป โดยในปีนี้บีโอไอมีแผนเปิดสำนักงานเพิ่มเติม 3 แห่ง ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย, นครเฉิงตู ประเทศจีน และประเทศสิงคโปร์ ซึ่งล้วนเป็นประเทศเป้าหมายสำคัญในการดึงการลงทุนมายังประเทศไทย

2) การยกระดับสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการดึงดูดการลงทุน เช่น การผลักดันกลไกการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด การสนับสนุนการเจรจา FTA กับประเทศคู่ค้าสำคัญ การเตรียมบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการยกระดับบริการภาครัฐ

3) การดึงดูดบุคลากรทักษะสูงจากต่างประเทศ (Talent) ให้เข้ามาอยู่อาศัย และทำงานในประเทศไทย ผ่านมาตรการ Long-term Resident Visa (LTR Visa) และการปรับปรุงศูนย์บริการ One Stop Service ด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน

4) การเชื่อมโยงให้ผู้ประกอบการไทยได้เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น EV และแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ที่กำลังจะเป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศไทย โดยการผลักดันผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ให้เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานให้มากที่สุด

5) การยกระดับผู้ประกอบการไปสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ ที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Smart and Sustainable Industry) เช่น การส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนเครื่องจักร มาใช้เครื่องจักรประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานหมุนเวียน หรือใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ หรือนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นต้น

"บีโอไอมองว่า ปี 2567 จะเป็นปีทองสำหรับการลงทุน ซึ่งจะมีโครงการขนาดใหญ่ ตัดสินใจเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล อุตสาหกรรมชีวภาพ และพลังงานหมุนเวียน สำหรับยานยนต์ นอกจากจะดึงการลงทุนจากผู้ผลิต EV รายใหม่ๆ รวมทั้งการผลิตแบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญแล้ว ยังคาดว่าจะมีการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการรถยนต์รายเดิม ที่จะมาขอรับส่งเสริมตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ออกมาใหม่ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มุ่งสู่ความสะอาด ประหยัดพลังงาน ปลอดภัย และการขับเคลื่อนอัจฉริยะด้วย" นายนฤตม์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ