"อนุสรณ์" แนะรัฐเร่งตัดสินใจพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา ก่อนเสียโอกาส

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday February 11, 2024 15:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การเจรจาทางเศรษฐกิจ การทำข้อตกลงเศรษฐกิจ และการทำความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างไทย-กัมพูชา จะส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางการค้า การลงทุน การขยายตัวตามแนวชายแดนจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมทั้งมีความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดนมากขึ้น ความสัมพันธ์ที่ดีของสองประเทศ จะนำมาสู่การเจรจาเพื่อพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เพื่อสำรวจแหล่งพลังงานใหม่ให้กับทั้งสองประเทศ

การพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลร่วมกันระหว่างไทย-กัมพูชา เช่นเดียวกับที่ได้ดำเนินการกับมาเลเซีย จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ต่อธุรกิจอุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมต่อเนื่อง จะเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของประเทศในอนาคต สามารถลดราคาพลังงานได้ในระยะยาว ลดต้นทุนภาคการผลิตและการดำเนินชีวิตของประชาชน สามารถทดแทนการนำเข้าพลังงาน ส่งผลบวกต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน

"หากไม่ตัดสินใจดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน Overlapping Claims Area ตอนนี้แล้ว มูลค่าทรัพยากรพลังงานที่ได้จากพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว จะลดมูลค่าลงไปเรื่อย ๆ ในช่วง 3 ทศวรรษข้างหน้า จนกระทั่งในที่สุด ทรัพยากรธรรมชาติแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนเหล่านี้ อาจไม่คุ้มทุนที่จะสำรวจขึ้นมาใช้" นายอนุสรณ์ ระบุ

พร้อมเสนอให้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้

1. เสนอให้มีการทำบันทึกความเข้าใจเฉพาะเรื่องการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน โดยแยกเรื่องพื้นที่ทับซ้อนในเรื่องเขตแดนที่ยังตกลงกันไม่ได้ออกไปก่อน

2. จัดตั้งคณะกรรมการระหว่างประเทศ (ไทย-กัมพูชา) ในการศึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน

3. เสนอให้มีการจัดจ้างบริษัทเชี่ยวชาญระดับโลก ทำการสำรวจทางธรณีวิทยา เพื่อยืนยันศักยภาพทางด้านทรัพยากรปิโตรเลียมของพื้นที่ทับซ้อน

4. เริ่มต้นทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติให้ได้ภายในปี 2570-2572 เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานและราคาพลังงานถูกลง ซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกันของ 2 ประเทศ

นายอนุสรณ์ ยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ควรจะพลักดันให้เกิดโครงการลงทุนเชื่อมโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน ผ่านกัมพูชาสู่เวียดนามด้วย รวมทั้งพัฒนาศูนย์วิจัยและนวัตกรรม สถาบันการศึกษาชั้นสูง การพัฒนาและยกระดับท่าเรือน้ำลึกที่มีอยู่แล้วตามระเบียงเศรษฐกิจจากตะวันตกสู่ตะวันออก สิ่งเหล่านี้จะเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาค และทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซียกระดับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เป็นพื้นที่ที่มีสภาวะแวดล้อมรองรับอุตสาหกรรม 4.0 และอุตสาหกรรม New S-Curve ได้ดียิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ