ไม่เกินฝัน! รัฐบาลวางยุทธศาตร์เชิงรุก-รับ ดันไทยผงาดสู่ TOP 10 ผู้ผลิตยานยนต์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 7, 2024 17:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาหัวข้อ "ยุทธศาสตร์ยานยนต์ไทยสู่...TOP 10 โลก"ว่า ขณะนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย คงไม่มีใครปฏิเสธว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางตลาดโลก ท่ามกลางคำถามที่ยังไม่มีคำตอบมากมาย เช่น สัดส่วนของยานยนต์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร เครื่องยนต์สันดาป (ไออีซี) จะหายไปเลยหรือไม่ สุดท้ายแล้วยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะครองโลกหรือไม่

"เราต้องมียุทธศาสตร์ทั้งรุกและรับ ต้องลุยไปข้างหน้า ขณะเดียวกันต้องมีความยืดหยุ่น ปราดเปรียว พร้อมปรับตัว ก้าวย่างต้องมีจังหวะที่พอเหมาะพอดี ไม่ช้าจนตกเวทีตามกระแสการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน แต่ก็ไม่เร็วจนหลุดโค้ง" น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าว

พร้อมระบุว่า การที่ประเทศไทยจะรักษาความเป็นฐานการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่ผสมผสานในหลายๆ ด้าน ทั้งยุทธศาสตร์เชิงรุก จากจุดแข็งที่เป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ในภูมิภาค เพื่อเร่งปรับตัวก้าวให้ทันกับกระแสของอีวี และยุทธศาสตรเชิงรับ ส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมให้สามารถยืนหยัด พัฒนายานยนต์เดิมให้สะอาดและประหยัดขึ้น และส่งเสริมการผลิตอีวีสำหรับรถยนต์เชิงพาณิชย์ ซึ่งยังไม่มีผู้เล่นในตลาดโลกมากนัก ถือเป็นโอกาสของผู้ผลิตของไทยที่ยกระดับการเป็นผู้ผลิต และการทำตลาดในประเทศและการส่งออก

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธาน ตั้งเป้าหมายประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก และตั้งเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicles : ZEV) ในปี 2573 หรือที่เรียกว่า แผน 30@30 คือ การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 ผ่านมาตรการสนับสนุนจากรัฐ

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า 100% ไปแล้วประมาณ 40,000 ล้านบาท และในปี 2567 มีหลายบริษัทเริ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ มาตรการ อีวี 3.5 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญในประเทศไทย หลังจากประสบความสำเร็จจากมาตรการ อีวี 3.0 แล้ว

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ยังให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนรถยนต์สาธารณะ และจักรยานยนต์ เป็นอีวี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยของยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และอุปกรณ์สำหรับอัดประจุไฟฟ้า รวม 154 ฉบับ ตลอดจนการพัฒนาศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (แอททริค) และศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ อีกทั้งสถาบันยานยนต์ ยังพัฒนาทักษะบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

"เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จะสามารถกลับมาเป็นเสือที่ตื่นและผงาดอยู่ในท็อป 10 ของฐานการผลิตยานยนต์ และยานยนต์ไฟฟ้าของโลก พร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการรักษาโลกส่งต่อให้คนรุ่นหลัง" น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าว

พร้อมระบุว่า รัฐบาลนี้ได้สานต่ออุตสาหกรรมยานยนต์อีวีต่อจากรัฐบาลก่อน โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการแบตเตอรี่แบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การซ่อมบำรุง ให้กลับมาใช้งานใหม่ จนกระทั่งการทำลายที่ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องนี้ตนได้นำหารือกับนายกรัฐมนตรีแล้ว และได้รับความเห็นชอบ จากนี้จะมีการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ