สินค้าเกษตรไทยปี 66 ยังสดใส ส่งออกภายใต้ FTA เกินดุลกว่า 5 แสนลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 25, 2024 15:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สินค้าเกษตรไทยปี 66 ยังสดใส ส่งออกภายใต้ FTA เกินดุลกว่า 5 แสนลบ.

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาพรวมสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรของไทยกับโลกในปี 66 ว่า ไทยมีมูลค่าการค้ารวม 2.372 ล้านล้านบาท ลดลง 0.13% จากปี 65 ที่มีมูลค่า 2.375 ล้านล้านบาท โดยไทยยังเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 9.51 แสนล้านบาท ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะประเทศคู่เจรจาความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี อินเดีย ฮ่องกง (ไม่รวมประเทศสมาชิกอาเซียน) พบว่า ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

สินค้าเกษตรไทยปี 66 ยังสดใส ส่งออกภายใต้ FTA เกินดุลกว่า 5 แสนลบ.

โดยในปี 66 ภาพรวมการค้าสินเกษตรของไทยกับคู่เจรจาทั้ง 9 ประเทศ มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 65 ที่ 3.25% หรือคิดเป็นมูลค่า 1.01 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตร 7.70 แสนล้านบาท และมูลค่านำเข้า 2.40 แสนล้านบาท ส่งผลให้ไทยได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรกับประเทศคู่เจรจาทั้ง 9 ประเทศดังกล่าวข้างต้น 5.29 แสนล้านบาท

สำหรับตลาดส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และออสเตรเลีย ส่วนสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ทุเรียน 1.39 แสนล้านบาท 2. ไก่ปรุงแต่ง 5.32 หมื่นล้านบาท 3. ยางธรรมชาติ 4.91 หมื่นล้านบาท 4. มันสำปะหลัง 3.99 หมื่นล้านบาท และ 5. ชิ้นเนื้อและเครื่องในที่บริโภคได้ของไก่แช่แข็ง 3.61 หมื่นล้านบาท

สินค้าเกษตรไทยปี 66 ยังสดใส ส่งออกภายใต้ FTA เกินดุลกว่า 5 แสนลบ.

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายประเทศคู่ค้า FTA ของไทย มูลค่าการค้าและอัตราการเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า จีน ยังคงเป็นตลาดที่ไทยส่งออกสินค้าเกษตรมากที่สุด โดยคิดเป็นมูลค่ากว่า 4.49 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.60% โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ทุเรียน 1.37 แสนล้านบาท, มันสำปะหลังฝาน หรือทำเป็นเพลเลต 3.94 หมื่นล้านบาท และยางธรรมชาติ 3.50 หมื่นล้านบาท

ส่วนคู่ค้า FTA ประเทศอื่นๆ ที่ไทยส่งออกสินค้าเกษตรได้เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา ได้แก่

  • นิวซีแลนด์ มีมูลค่า 7.39 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11.18% โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาหารสุนัขหรือแมว 878 ล้านบาท, ปลาทูน่ากระป๋อง 860 ล้านบาท และน้ำตาลที่ได้จากอ้อย 801 ล้านบาท
  • ชิลี มีมูลค่า 2.42 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11.75% โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ปลาทูนากระป๋อง 1.69 พันล้านบาท, อาหารสุนัขหรือแมว 294 ล้านบาท และสับปะรดปรุงแต่ง 95 ล้านบาท
  • เปรู มีมูลค่า 1.79 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.98% โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ปลาทูนากระป๋อง 1.30 พันล้านบาท, ข้าวโพดสำหรับการเพาะปลูก 187 ล้านบาท และข้าว 179 ล้านบาท
สินค้าเกษตรไทยปี 66 ยังสดใส ส่งออกภายใต้ FTA เกินดุลกว่า 5 แสนลบ.

สำหรับประเทศคู่เจรจาที่ไทยส่งออกสินค้าเกษตรได้ลดลง ได้แก่

  • ญี่ปุ่น ส่งออกลดลง 5.31% โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ไก่ปรุงแต่ง 4.72 หมื่นล้านบาท, ชิ้นเนื้อและเครื่องในที่บริโภคได้ของไก่แช่แข็ง 1.50 หมื่นล้านบาท และอาหารสุนัขหรือแมว 1.13 หมื่นล้านบาท
  • เกาหลีใต้ ส่งออกลดลง 8.47% โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำตาลที่ได้จากอ้อย 1.00 หมื่นล้านบาท, ยางธรรมชาติ 4.67 พันล้านบาท และไก่ปรุงแต่ง 4.63 พันล้านบาท
  • อินเดีย ส่งออกลดลง 22.49% โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปาล์มดิบ 2.44 หมื่นล้านบาท, ยางธรรมชาติ 3.48 พันล้านบาท และน้ำมันถั่วเหลือง 2.88 พันล้านบาท
  • ออสเตรเลีย ส่งออกลดลง 7.02% โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ปลาทูนากระป๋อง 5.96 พันล้านบาท, อาหารสุนัขหรือแมว 3.99 พันล้านบาท และซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส 2.43 พันล้านบาท
  • ฮ่องกง ส่งออกลดลง 8.54% โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ข้าว 4.82 พันล้านบาท, ทุเรียน 1.76 พันล้านบาท และเนื้อไก่ปรุงแต่ง 1.20 พันล้านบาท

นายฉันทานนท์ กล่าวว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ยังคงไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในหลายพื้นที่ ทำให้การส่งออกสินค้าในภาพรวมมีอัตราการเติบโตที่ลดลง แต่สินค้าเกษตรของไทยก็ยังคงสามารถเติบโต และสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศอย่างได้ต่อเนื่อง

"สินค้าเกษตรไทย ยังคงต้องยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกที่ยังคงมีการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่หลายๆ ประเทศนำมาใช้เป็นเงื่อนไขในการนำเข้าสินค้าเกษตร หากผู้ผลิต/ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถปรับตัว หรือปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตได้ ก็อาจสูญเสียโอกาสทางการค้าในตลาดโลก นอกจากนี้ ควรส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ให้สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไปในโลกยุคปัจจุบัน" นายฉันทานนท์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ